ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

ตอนที่ 5 รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ปัญหาส่งเบิกกับสปสช. ต้นเหตุขาดทุน

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 6 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอกรมบัญชีกลาง วิเคราะห์บัญชี รพ. หาสาเหตุขาดทุน

“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ชี้ รพ.รัฐ ไม่มี “ขาดทุน” เแต่อาจ “ขาดสภาพคล่อง” ได้ เหตุรัฐให้งบดำเนินการทุกปี แถมจ่ายเงินเดือนบุคลากร รพ. เสนอ “กรมบัญชีกลาง” วิเคราะห์บัญชี รพ.ขาดสภาพคล่อง หาต้นตอเหตุหนี้สะสม หลัง 12 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตกเป็นจำเลยทำ รพ.ขาดสภาพคล่อง แนะทางออก รพ.รัฐส่วนหนึ่งควรออกนอกระบบ หาดอยกอยู่ภายใต้กำกับ สธ.จะทำให้เกิดข้อจำกัดการแก้ไขปัญหา เผยที่ผ่านมามีบาง รพ.ที่อยู่ภายใต้อปท.ก็สามารถดำเนินการได้ดี

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เมื่อพูดถึง รพ.ขาดทุน โดยเฉพาะในส่วนของ รพ.รัฐ ความเห็นส่วนตัวมองว่า รพ.รัฐจะใช้คำว่า รพ.ขาดทุนไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นการดำเนินธุรกิจ เนื่องจาก รพ.รัฐ เป็น รพ.ที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณทุกปี จึงไม่มีต้นทุนและไม่มีกำไร อีกทั้งบุคลากรที่ทำงานใน รพ.ไม่ว่าอย่างไรก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลทุกคน รวมถึงในส่วนของลูกจ้าง ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่มีการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่มีใครที่ไม่ได้รับเงินเดือน จึงใช้คำว่าขาดทุนเหมือนกับ รพ.เอกชนไม่ได้ เพียงแต่อาจมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องรวมถึงหนี้ค้างสะสม

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ รพ.รัฐ ยังเป็น รพ.ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่ารัฐจะต้องจัดบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องจัดบริการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน นอกจากนี้ รพ.รัฐยังอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบที่คอยกำกับเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้จึงต้องทำให้ รพ.รัฐต้องทำหน้าที่ทั้งการให้บริการและต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาควบคู่

ส่วนกรณีที่ รพ.รัฐขาดสภาพคล่องนั้น น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า คงต้องมาดูว่าสาเหตุคืออะไร เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งการที่มีปัญหาหนี้สินสะสม ทั้งปัญหาหนี้ค้างค่ายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่รวมไปถึงการปัญหาการขาดเงินลงทุนก่อสร้างอาคารเพื่อบริการประชาชน ซึ่งต้องดูว่าเกิดจากอะไร มาจากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือเกิดจากระบบการบริหารที่เป็นปัญหา รวมไปถึงการบริหารของ รพ. ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า รพ.รัฐส่วนหนึ่งควรออกนอกระบบ จะอยู่ภายใต้กำกับ สธ.ไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดข้อจำกัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมามีบาง รพ.ที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งก็สามารถดำเนินการได้ดี ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งที่ดี

“12 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูเหมือนว่าถูกทำให้เป็นจำเลยของปัญหา รพ.รัฐขาดสภาพคล่อง เพราะการดำเนินการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการพูดถึงการบริหารจัดการเงิน การคำนวณงบประมาณเพื่อให้ประชาชนมีระบบหลักประกันสุขภาพ ถึงเวลาที่ต้องวิเคราะห์สาเหตุให้ชัดเจน โดยอาจตัด รพ.ชายแดน ซึ่งคาดว่ามีประมาณกว่า 10 แห่งออกไปก่อน และดูปัญหาของ รพ.ขาดสภาพคล่องที่เหลือ และหากทางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้จะต้องดูในส่วนของเงินบำรุงด้วย เพราะบางแห่งมีเงินบำรุงอยู่มาก แต่กลับไม่นำออกมาใช้และออกมาบอกว่าขาดทุน ซึ่งตามหลักการจะต้องเหลือเฉพาะเงินประกันความเสี่ยงเท่านั้น” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ต้องการให้มีการโอนงบประมาณทั้งหมดไปยังเขตสุขภาพเพื่อบริหารนั้น ในหลักการบริหารความเสี่ยงระบบหลักประกันสุขภาพ จะมีการกันเงินงบประมาณไว้ที่ส่วนกลางเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไตวาย และฮีโมฟีเลีย เป็นต้น ซึ่งทำให้ รพ.ไม่ต้องแบกรับค่ารักษาจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เป็นการประกันการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีการจัดทำระบบการเบิกตามดีอาร์จี หลักเกณฑ์เหล่านี้น่าจะทำให้ รพ.อยู่ได้ โดยเฉพาะในส่วนของ รพ.ขนาดใหญ่ที่มีผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนมาก รวมถึง รพ.ขนาดเล็กที่อาจพบผู้ป่วยเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อดูถึงจำนวนของ รพ.ขาดสภาพคล่อง ซึ่งมีการระบุตั้งแต่ 34 แห่ง จนถึงกว่าร้อยแห่ง เมื่อดูในสัดส่วนที่มากที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 5 ของ รพ.สังกัด สธ. แสดงให้เห็นว่าภาพรวมของ รพ.รัฐ ยังมีสภาพคล่องที่ดี ดังนั้นจึงต้องแก้ไขในส่วนน้อยที่เป็นปัญหา

“ปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่องเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน ควรทำให้ชัดเจน โดยเสนอให้กรมบัญชีกลางเข้ามาวิเคราะห์บัญชีของ รพ.เหล่านี้ว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดจากรายรับที่ไม่เพียงพอจริงๆ หรือเกิดจากการบริหารของ สปสช. รวมไปถึงการบริหารของ สธ.และ รพ. ไม่ใช่ปล่อยให้มีการพูดกันลอยๆ และสรุปว่าการกระจายงบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขาลงไม่ดี ต้องส่งงบประมาณทั้งหมดไปที่เขตคงไม่ถูกต้อง เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยได้” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว 

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนข้อเสนอของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ที่ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นเห็นด้วย ซึ่งอาจให้คณะกรรมการประสานระบบสุขภาพสามกองทุน ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน เข้ามาช่วยดูและทำเรื่องนี้เลย ซึ่งไม่แต่เฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ต้องดูครอบคลุมทุกระบบสุขภาพ ทั้งประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภาพรวม

ตอนต่อไปติดตาม ตอนที่ 7 รพ.เกาะสมุยชี้งบไม่พอ ปมปัญหาบัตรทอง เผย รพ.ไม่ขาดทุน เพราะมีรายรับจากกองทุนอื่น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

ตอนที่ 5 รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ปัญหาส่งเบิกกับสปสช. ต้นเหตุขาดทุน

ตอนที่ 7 รพ.เกาะสมุยชี้งบไม่พอ ปมปัญหาบัตรทอง เผย รพ.ไม่ขาดทุน เพราะมีรายรับจากกองทุนอื่น