ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 1 สธ. ตั้งเป้าภายในปี 58 ขยายให้ รพ.ทุกแห่งในจ.พะเยา สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคหัวใจได้ เผย ปี 2557 ผู้ป่วยได้รับยามากขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ช่วยลดอัตราป่วยเป็นอัมพฤกษ์และอัมพาตจากการได้รับยาขยายหลอดเลือดไม่ทันเวลาได้มาก รวมทั้งลดอัตราการนอนรพ.จากร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 5  ลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดเหลือประมาณ 78 วัน ทำให้อัตราการตายลดลงและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

28 ม.ค.58 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินทางตรวจเยี่ยม สภาพปัญหา รพ.ตามแนวชายแดนและการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ที่ โรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา พร้อมให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยม ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีกว่า (Better service) มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โดยใช้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการร่วมกันเป็นเขตบริการสุขภาพ 12 เขตและ 1 กทม. โดยกำหนดให้ทุกเขตบริการสุขภาพพัฒนาระบบบริการ 10 สาขาหลัก อาทิ อุบัติเหตุ มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด จิตเวช ตา ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ป่วยวิกฤตเด็กจะมีเตียงไอซียูรองรับผู้ป่วย เพื่อลดอัตราการตายได้ ไม่ต้องส่งผู้ป่วยออกนอกเขตบริการสุขภาพที่ไปไกล รวมถึงผู้ป่วยโรคนิ่ว จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถผ่าตัดและใช้เครื่องสลายนิ่วภายในเขต ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรักษาไกลๆ นอกเขตอีกต่อไป เป็นต้น ซึ่งจะพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ทั้งคน งบประมาณ และทรัพยากร เป็นการบริหารและจัดการร่วมกันอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพในการบริการประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ต้องอาศัยกลไกทางการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนและพัฒนาระบบงานบริการให้ดียิ่งขึ้นด้วย

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจเยี่ยมการจัดบริการของ รพ.เชียงคำ ซึ่งอยู่ในเขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และพะเยา พบว่า มีความก้าวหน้าด้านการดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างมาก เนื่องจากใช้ระบบดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการไร้รอยต่อ ส่งเสริมพัฒนาให้เครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุข สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเองได้ จากข้อมูล รพ.เชียงคำ ปี 2557 พบว่ามีแนวโน้มผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,298 ราย เมื่อมีการใช้ระบบดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการไร้รอยต่อ ทำให้ผู้ป่วยได้รับยามากขึ้น จากเดิมปี 2555 ได้รับยาร้อยละ 33 ในปี 2557 ผู้ป่วยได้รับยามากขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ร้อยละ 66  ซึ่งช่วยลดอัตราป่วยเป็นอัมพฤกษ์และอัมพาตจากการได้รับยาขยายหลอดเลือดไม่ทันเวลาได้มาก รวมทั้งลดอัตราการนอนรพ.จากร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 5  และลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดเหลือประมาณ 78 วัน ทำให้อัตราการตายลดลงและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้มีการประสานและส่งต่อผู้ป่วยไปยังเครือข่ายในเขต เช่น รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ศูนย์ลำปาง เพื่อฉีดสีสวนหัวใจ ขยายหลอดเลือดหัวใจ และผ่าตัดหัวใจแบบเปิด พร้อมสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยไปยัง รพสต.ให้แพทย์และพยาบาลเข้าดูแลผู้ป่วยที่บ้านเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น พร้อมย้ำต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ทำเรื่องเสนอครม.ในเรื่องการจัดซื้อร่วมภายในเขต เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล ลดต้นทุน และได้ยาที่มีมาตรฐานเดียวกัน  ส่วนการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข สามารถปรับเปลี่ยนได้หากหน่วยงานในภูมิภาคทุกแห่งมีความเข็มแข็ง

พญ.จิรพร ภัทรนุธาพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงคำ กล่าวว่า รพ.เชียงคำดำเนินการพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขให้ครอบคลุมการดูแลสุขภาพประชาชนทุกด้าน โดยเชื่อมโยงหน่วยบริการสาธารณสุขเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรพ.เชียงคำ จะรับผิดชอบประชากรในเครือข่ายบริการสุขภาพจากอ.เชียงคำและอ.ภูซาง รวม 107,872 คน และยังรับส่งต่อผู้ป่วยจาก อ.จุน อ.ปง อ.เชียงม่วนอีกด้วย รวมผู้ป่วยที่รับผิดชอบ 227,934 คน คิดเป็นร้อยละ 46 ของจังหวัดพะเยา 

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า โรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนสูง คือ ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม มะเร็ง รวมถึงโรคหัวใจด้วย ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากหน่วยบริการสาธารณสุขไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ต้องเดินทางมายังรพ.เชียงคำ ซึ่งสร้างความยากลำบากต่อผู้ป่วย และบางพื้นที่อยู่ในเขตภูเขา ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ในการสื่อสารได้  เนื่องจากไม่มีสัญญาณ ด้วยเหตุนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา รพ.พะเยา และรพ.เชียงคำ ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา 2 ประเด็น คือ

1.พัฒนาบุคลากรและขยายหน่วยบริการสาธารณสุข สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดได้เอง ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ทำสำเร็จแล้ว 1 แห่ง และเตรียมขยายให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ อีก 6 แห่ง ในปีงบประมาณ 2558 พร้อมกันนี้ยังขยายระบบบริการสู่ระดับปฐมภูมิ มีการจัดตั้งชมรมคนพะเยารักหัวใจ โดยเจ้าหน้าที่รพ.สต.จะให้ความรู้เรื่องโรคหัวใจ เน้นอาการเสี่ยงเพื่อเข้ารับการตรวจรักษา ลดอัตราการตายของผู้ป่วย

2.ใช้ระบบวิทยุสื่อสาร ในกรณีที่โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ และใช้โปรแกรมไลน์ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เพื่อติดต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปรึกษาปัญหาสุขภาพและคำแนะนำในการส่งต่อผู้ป่วย