ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้แถลงการณ์เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มคนไทยไร้สถานะ 2 แสนคนให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลภายใต้กองทุนคืนสิทธิรักษาพยาบาลผู้มีปัญหาตามสถานะตามมติครม. 2553 (กองทุนคืนสิทธิฯ) สธ.ดูมีท่าทีตอบรับข้อเสนอของภาคประชาชน เห็นได้จากการที่รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ได้ลงพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตากก่อนหน้านี้ และประกาศจะเดินหน้าขอความเห็นชอบจาก ครม.ขอ สธ.ดูแลผู้ตกสำรวจเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม พบว่าข้อเสนอที่หยิบยกขึ้นมามิได้รวมกลุ่มผู่มีปัญหาทางสถานะ 95,071 รายที่ถูกปลดออกจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UC (Universal Health Coverage) เมื่อปลายปี 2556

หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ถูกท้วงติงจากสำนักงบประมาณว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้มีทะเบียนซ้ำซ้อนกับกองทุนคืนสิทธิฯ จึงจำเป็นต้องปลดคนกลุ่มนี้ออกจากสิทธิ UC เนื่องจาก สปสช.ไม่สามารถดูแลได้ตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่หลายคนเป็นผู้สูงอายุและอพยพมาอยู่ในไทยเป็นเวลายาวนาน มีผู้สืบสันดานเป็นผู้มีสัญชาติไทยทั้งสิ้น

ปัญหานี้ได้ถูกหยิบยกโดยภาคประชาชนเมื่อต้นปี 2557 และเกิดการเรียกร้องขอให้ สธ.รับคนกลุ่มนี้เข้าสู่การดูแลภายใต้กองทุนคืนสิทธิฯ อย่างไรก็ตาม เกิดการถกเถียงในบอร์ด สปสช.เป็นเวลาหลายเดือน โดย สธ.ไม่มีท่าทีว่าจะรับคนกลุ่มนี้เข้าดูแล

ทุกวันนี้ กลุ่มผู้ถูกปลดสิทธิได้รับการรักษาตามหลักมนุษยธรรมภายใต้คำสั่งสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ 0209.01/ ว165 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2557 ว่าด้วยเรื่องการดูแลประชาชนที่ถูกปลดสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า ให้หน่วยบริการให้บริการผู้ถูกปลดสิทธิจากบัตรทองอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยถือเป็นจรรยาบรรณวิชาชีพ และขอให้หน่วยบริการรวบรวมข้อมูลการให้บริการผู้ป่วย มาที่กลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณางบประมาณสนับสนุนให้หน่อยบริการต่อไป

นั่นหมายความว่า คนกลุ่มนี้ได้รับการเยียวยาเฉพาะหน้า แต่ยังไม่มี “สิทธิ” การรักษาพยาบาลอย่างแท้จริง

ถูกแขวนอยู่บนนโยบาย สธ. ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากผู้บริหารเปลี่ยนคน

Health Focus ได้รับข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกปลดสิทธิบางรายว่า คำสั่ง สธ.ไม่ลงไปสู่การปฏิบัติ พบว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบางแห่งไม่ทราบเรื่องคำสั่ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยังคงขอให้คนกลุ่มนี้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลหรือซื้อบัตรประกันสุขภาพต่างด้าว ในบางรายถูกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำให้ยื่นฟ้อง สปสช.เอง หรือให้ไปดำเนินเรื่องยื่นขอสัญชาติไทย อันเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนาน ทั้งที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้และมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยสูง

ในกรณีของอาม่าอายุประมาณ 70 ปีรายหนึ่ง อาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา ได้รายงานว่าถูกปลดจากสิทธิ UC กะทันหัน โรงพยาบาลไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และถูกเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลขอเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล โดยอ้างว่าไม่เคยเห็นคำสั่งสำนักปลัด สธ.ในเรื่องการดูแลประชาชนที่ถูกปลดสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทางครอบครัวอาม่าจึงได้ทำเรื่องร้องเรียนมายัง สธ. จึงได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามเดิม อย่างไรก็ตาม ต้องมีการขอใบรับรองจากกลุ่มงานบัตรทองในโรงพยาบาลเพื่อรับยาและใบเสร็จในทุกครั้งที่เข้ารับบริการ แสดงให้เห็นว่าระบบทางทะเบียนของ สธ.ยังไม่ได้รับอาม่าเข้าในกองทุนคืนสิทธิฯ

ภายใต้กระแสปฏิรูปที่ข้อเสนอนับร้อยถูกหยิบยกขึ้น กลุ่มผู้ถูกปลดสิทธิทั้งเก้าหมื่นกว่ารายยงคงถูกลอยแพ

ไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน