ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ปธ.กมธ.สาธารณสุข สนช.” ห่วงการรักษาพยาบาล “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ด้อยคุณภาพ ส่งกระทบประชาชนผู้มีสิทธิ์ 48 ล้านคน หลังถูกคุมเข้มงบเหมาจ่ายรายหัวนาน 4 ปี ขยับเพิ่มแค่ 140 บาท สวนทางอัตราเงินเฟ้อ ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายปรับเพิ่ม ทำ รพ.รัดเข็มขัด เผยเริ่มเห็นสัญญาณสัดส่วนค่ายาและเวชภัณฑ์ รพ.เริ่มลดลง แนะรัฐบาลต้องหนุนงบเพิ่มแก้ปัญหา พร้อมเสนอตั้ง “คณะกรรมการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพระดับชาติ” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คุมทิศทางนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ    

10 ก.พ.58 ที่อาคารรัฐสภา – นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวในเวทีสัมมนา “ปฎิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ว่า จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่งผลให้มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขประเทศไทย ทำให้ประชาชนได้รับสิทธิด้านรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง และจากที่ กมธ.สาธารณสุขได้เดินทางดูงานระบบรักษาพยาบาลในต่างประเทศต่อเนื่อง 6 ปี เห็นว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยนั้นดีกว่าประเทศอื่น เพียงแต่ต้องมีการปรับแก้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านงบประมาณ ซึ่งจากเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 งบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 1,102 บาทต่อคน และปี 2558 เพิ่มเป็น 2,895.9 บาท แต่เมื่อดูในรายละเอียดปี 2555-2556 และปี 2557-2558 พบว่าเป็นปีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวในอัตราคงที่ และจากการคำนวณพบว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ มีการปรับเพิ่มขึ้นของงบเหมาจ่ายรายหัวเพียงแค่ 140 บาทเท่านั้น ถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยมาก ขณะที่การอัตราการเติบโตของจีดีพีรวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ค่าตอบแทนและรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการ โดยเฉพาะ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องรัดเข็มขัดเพื่ออยู่รอด

นพ.เจตน์ กล่าวว่า เมื่อดูงบการเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2556 พบว่า จากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีงบคงเหลือเพิ่มขึ้น เป็นเงินที่เหลือจากมาตรา 41 ที่มีการจ่ายไม่มาก และเงินที่ถูกเรียกคืนจากโรงพยาบาลต่างๆ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า แม้ว่า สปสช.สามารถบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้งบประมาณที่จำกัดได้ แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลในระบบที่อาจลดลง เนื่องจากตัวเลขค่าตอบแทนและค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ค่ายาและเวชภัณฑ์มีสัดส่วนที่ลดสง สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยที่รับบริการเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเริ่มลดลง และกำลังจะส่งผลกระทบมากขึ้นหากไม่มีงบประมาณเพิ่มสนับสนุน

นพ.เจตน์ กล่าวว่า เมื่อดูโครงสร้างงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา สปสช.ได้เสนอของบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง แต่สำนักงบประมาณกลับไม่ได้จัดสรรให้ตามอัตราที่ สปสช.นำเสนอ เนื่องจากเป็นวิธีจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณที่ต้องบีบงบให้ต่ำกว่าที่เป็นจริง และมักจะเพิ่มเติมงบภายหลังในช่วงปลายปี และด้วยสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อดูตัวเลขงบโรงพยาบาลจึงพบข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะโรงพยาบาลต่างอยู่ในภาวะขาดทุนงบเหมาจ่ายรายหัว โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะได้กำไรจากกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการแทน แต่ที่ผ่านมากองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการที่ถูกจำกัดงบ 60,000 ล้านบาทต่อเนื่อง 7 ปี ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถหารายได้เพิ่มจากกองทุนนี้

ขณะที่ระบบประกันสังคมไม่ต้องพูดถึง เพราะถูกควบคุมงบประมาณโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เช่นกันเพื่อรองรับการจ่ายบำนาญให้กับผู้ประกันตน ด้วยเหตุนี้การที่โรงพยาบาลจะได้รายได้และงบประมาณเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และแม้ว่า รมว.สาธารณสุข จะขอให้เพิ่มงบประมาณปี 2559 ได้ แต่ก็คงเพิ่มได้ไม่มากจากระบบจัดสรรงบประมาณที่เป็นอยู่นี้

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่ดี โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน ทำให้ประชาชนเข้ารับการรักษา แม้ในระดับตติยภูมิที่มีค่าใช้จ่ายสูง ประชาชนได้รับการดูแลรักษาพยายาลจากรัฐ แต่ระบบที่ดีแบบนี้จะทำให้ยั่งยืนและเดินไปข้างหน้าอย่างไร และเมื่อดูสัดส่วนค่าใช้จ่ายสุขภาพในงบประมาณประเทศ มองว่าเรายังมีการใช้จ่ายกับส่วนนี้น้อยไป ซึ่งควรจะ 10-15% ของงบประมาณประเทศ และหากเรายังกดอยู่แบบนี้จะทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลของประเทศจะด้อยลง และจะไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆ ไม่มีการลงทุน ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนอย่างมาก”  

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันต้องมีการแยกงบเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าหลักคิดนี้ไม่สามารถเกลี่ยบุคลากรให้กระจายไปตามงบประมาณได้ ซ้ำยังทำให้โรงพยาบาลบางแห่งเกิดปัญหาสภาพคล่องตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะจำนวนประชากรในพื้นที่มีไม่มากส่งผลต่องบประมาณ ดังนั้นคำถามขณะนี้คือทำไมไม่แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้คงเหลืองบประมาณดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อจัดสรรไปยังหน่วยบริการตามที่ควรจะเป็น  

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ จึงเสนอให้มีคณะกรรมการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะเป็นร่มใหญ่ให้กับทุกระบบ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน เน้นเฉพาะการกำหนดนโยบาย มีผู้แทนจาก สปสช. กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจะระบบหลักประกันสุขภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม  

“แนวคิดนี้ได้นำพูดคุยกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ซึ่งเห็นว่าควรให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดำเนินการเรื่องนี้ แต่ผมมองว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะคน สธ.เองก็ไม่ไว้ใจ สช.เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ จึงต้องตั้งคณะกรรมการให้เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเนื่องจากจะมีอำนาจในการทุบโต๊ะเพื่อสั่งการในเรื่องงบประมาณที่กำลังเป็นปัญหาได้” นพ.เจตน์ กล่าว