ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอ ครม.ให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติม 3 กลุ่ม รวมทั้งเสนอขายบัตรประกันสุขภาพให้กลุ่มคนต่างด้าวที่อยู่ตามแนวชายแดนและข้ามมาขายแรงงานฝั่งไทยแบบเช้าไปเย็นกลับ เพื่อลดผลกระทบโรงพยาบาลแนวชายแดน

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม2553 เรื่องการให้สิทธิ (คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิว่า ความคืบหน้าขณะนี้ ทางคณะกรรมการได้มีมติที่จะดำเนินการต่อ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ทางคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรหรือเป็นกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งขณะนี้สำนักบริหารการทะเบียน (สนบท.) กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มบุคคลดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว มีจำนวนทั้งหมด 170,535 คน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเพิ่มเติม

2.กลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ได้รับการจดทะเบียน ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีจำนวนประมาณ 65,000 คน โดยจะประสานขอข้อมูลเด็กกลุ่มนี้ เพื่อนำเสนอขอให้มีการดูแลด้านสาธารณสุข และ3.จะทำการสำรวจกลุ่มที่ยังตกสำรวจ อาทิ กลุ่มที่ถูกปลดสิทธิจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มที่ไม่มีทะเบียน ไม่มีใบแจ้งเกิด เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้มีมติเพิ่มการดูแลต่อไปในอนาคต

อกจากนี้ จะทำการสำรวจกลุ่มคนต่างด้าว เช่น กลุ่มแรงงานที่ข้ามมาทำงานตามแนวชายแดน แบบเช้าไปเย็นกลับ กลุ่มที่อยู่ตามแนวชายแดนที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย เพื่อเสนอมาตรการให้มีการซื้อบัตรประกันสุขภาพตามหลักการ Health for all นั้นคือมนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิในสุขภาพดี รวมถึงไม่ให้สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดน ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ มีผลกระทบสถานะทางการเงิน กระทบต่อการบริหารและการให้บริการประชาชนชาวไทย

“อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข ก็จะดำเนินการให้การบริการดูแลรักษาประชาชนทุกคนที่เข้ามารับบริการไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดอย่างเต็มที่ ตามจรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักมนุษยธรรม แม้ว่าจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ก็ตาม” นพ.วชิระกล่าว