ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : อย.ขีดเส้น 3 เดือนรณรงค์แก้ปัญหาลักลอบ ผสมสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ หากไม่ได้ผลเล็งออกประกาศกำหนดร้านยาขาย "สเตียรอยด์" ไม่เกิน 1,000 เม็ดต่อเดือน พร้อมจัดทำบัญชีแหล่งที่มาและการขาย รองเลขาฯ อย. ชี้หากมาตรการต่างๆ ที่นำมาแก้ปัญหาล้มเหลว แสดงว่าเกิดการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัญหาการลักลอบผสมสารสเตียรอยด์ลงในผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เช่น ยาชุด ยาลูกกลอน ยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เครื่องดื่มสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายนั้น ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการรั่วไหลของสารสเตียรอยด์จากระบบบริการสาธารณสุข ทั้งในส่วนของการผลิตและนำเข้า

เขากล่าวว่า สารสเตียรอยด์มีฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอาการดีขึ้น เมื่อมีการอวดอ้างสรรพคุณรักษาสารพัดโรค จึงทำให้ประชาชนหลงเชื่อและซื้อมารับประทานจำนวนมาก ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากจะทำให้ผนังทางเดินอาหารบางจนถึงขั้นทะลุ กระดูกบางเสี่ยงเปราะหักง่าย หากหยุดยาทันที อาจทำให้ความดันโลหิตตกลง หมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งขณะนี้ อย.พยายามเร่งให้ความรู้ประชาชนโดยจัดกิจกรรมรณรงค์ให้รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์ที่ลอบผสมสาร สเตียรอยด์ เพื่อเป็นการปกป้องตนเอง

ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ในการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน ช่วง 3 เดือนนี้ อย.จะเก็บข้อมูลปัญหาการใช้สเตียรอยด์ไม่เหมาะสม หากยังพบว่ายังคงมีการลักลอบใช้อย่างผิดกฎหมาย อย.ก็เตรียมที่จะออกประกาศให้ร้านขายยารับยาสเตียรอยด์ ทั้งจากที่ประเทศไทยผลิตเองหรือนำเข้ามาจำหน่ายในร้านได้เพียงร้านละ 1,000 เม็ดต่อเดือน และจะจ่ายได้ต่อเมื่อมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น เนื่องจากเป็นยาควบคุมพิเศษ โดยต้องจัดทำบัญชีการรับยาสเตียรอยด์ว่ามาจากแหล่งใด จำนวนเท่าไร และจำหน่ายไปเท่าไร เพื่อให้ อย.ตรวจสอบด้วย

"หากมาตรการนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการรั่วไหลของสารสเตียรอยด์ในระบบได้ อย.จะยกระดับมาตรการให้สเตียรอยด์จำหน่ายได้แต่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น"

ภก.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า หากทั้ง 2 มาตรการยังคงไม่ได้ผล และยังมีการลักลอบนำสารสเตียรอยด์มาผสมลงในผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ อยู่อีก ปัญหาอาจเกิดขึ้นจากการลักลอบการนำเข้าสารสเตียรอยด์อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ อย.จะให้ด่านอาหารและยา ซึ่งมีอยู่ 44 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสเตียรอยด์ให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งล่าสุด อย.ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขของแต่ละเขตสุขภาพ เพื่อให้สนับสนุนการดำเนินงานในด่านอาหารและยาแล้ว เนื่องจากบุคลากรของ อย.ไม่เพียงพอ

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้สารสเตียรอยด์เป็น "ยาควบคุมพิเศษ" ซึ่งร้านขายยาจะจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น ยกเว้นสารสเตียรอยด์ ที่นำไปใช้เป็นยาเฉพาะที่กับผิวหนัง ตา หู คอ จมูก หรือปาก ซึ่งจัดเป็น "ยาอันตราย" และจำหน่ายได้เฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ผลิต ขายหรือนำเข้าสารสเตียรอยด์จะต้องจัดทำบัญชีซื้อ ขาย ไว้ด้วย รวมทั้งต้องรายงานปริมาณและมูลค่าการผลิต นำเข้ายาดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นสารอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีการควบคุมดูแลภายใต้กฎหมายที่บัญญัติไว้ โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามความผิดที่กระทำตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ยา เช่น ขายยาชุดที่มี ยาสเตียรอยด์ผสมอยู่ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ผู้ประกอบการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ปรับ 1,000-5,000 บาท เป็นต้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 มีนาคม 2558