ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ไทยโพสต์ : สป.สธ.-สปสช. เปิดโต๊ะแถลงสงบศึก ตั้งคณะกรรมการร่วมเร่งรัดการใช้จ่ายงบ สุดชื่นมื่นได้งบปี 59 เพิ่ม สธ.ได้ 8,000 ล้านส่วน สปสช.ได้เพิ่มอีก 10,000 ล้าน รวมทั้งตั้งบอร์ดคนกลางทำผังระบบบัญชีบัตรทองขึ้นใหม่ หวังลดข้อขัดแย้ง สามารถตรวจสอบได้ในระยะยาว

จากกรณีที่มีความขัดแย้งกันระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ล่าสุดวันที่ 26 มีนาคม 58 ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันแถลงประกาศนโยบายจะเดินหน้าพัฒนาระบบสุขภาพร่วมกัน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. รักษาการปลัด สธ. กล่าวว่า ทาง สป.สธ.และ สปสช.ได้มีการปรึกษาหารือกัน แม้ความคิดเห็นในอดีตจะไม่ตรงกันบ้าง แต่ ณ ปัจจุบัน ทั้ง 2 หน่วยงานมีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกันเพื่อสร้างการบริการที่ดี จึงตกลงที่สร้างกลไกที่จะทำงานร่วมกันคือ 1.โดยตกลงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกันต่อไป 2.ทาง สป.สธ.จะพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในส่วนของ สป.สธ. และเร่งรัดการโอนเงินของ สปสช.ให้ครบ 80% ในต้นเดือนเมษายน 3.ทาง สป.สธ.จะเพิ่มงบหน่วยบริการในส่วนงบประมาณของ สป.สธ.ในปีต่อไป จากเดิม 10,000 ล้านบาท ซึ่งปีหน้าจะได้เพิ่มเป็น 18,000 ล้านบาท 4.จะมีการออกแบบการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่าง สป.สธ.และ สปสช.

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของการเร่งรัดงบประมาณให้ลงสู่พื้นที่ให้เร็วที่สุด สปสช.ได้มีการเตรียมการที่จะส่งงบประมาณให้ครบ 80% ไปยังเขตภายในต้นเมษายนนี้ คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองปี 59 จะเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท และจะเป็นปีแรกที่มีการจัดสรรงบดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการในชุมชนประมาณ 600 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งงบแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนมีรายละเอียดอย่างไร นพ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า กรรมการที่ทางรัฐมนตรีว่าการ สธ.มีแนวคิดว่า เดิม สป.สธ.กับ สปสช.อาจจะมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน หรือเห็นไม่ตรงกัน จึงมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งที่เป็นคนกลางขึ้นมาเพื่อช่วยในการทำผังบัญชีทั้งหลายของบริการในรูปของหลักประกันสุขภาพให้เป็นมาตรฐาน ให้ตรวจสอบได้ระยะยาว รวมทั้งยังทำหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินผลสถานะทางการเงิน หรืออาจแต่งตั้งจัดจ้างผู้ประกอบวิชาชีพทางบัญชีมาช่วย เพราะต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่ได้มีนักบัญชีทั้งหมด คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย อาจารย์นวพร เรืองสกุล อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นประธาน และยังมี นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อดีตรองปลัด สธ., นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ., นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาฯ สปสช. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง นักการเงินการคลัง และระบบบัญชีของประเทศผู้แทนสำนักงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้อำนวยการกลุ่มประกันของสำนักงานปลัด สธ. และประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และประเมินผลของสำนักงาน สปสช. ภารกิจหลักของกรรมการชุดนี้คือ พัฒนาระบบการเงิน การบัญชี และระบบข้อมูลทางการเงิน เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน

"จริงๆ แล้วกรรมการชุดนี้นอกจากทำการดูปัญหาข้อเท็จจริงและเสนอทางแก้ต่างๆ แล้ว ทางคณะรัฐมนตรีก็คาดหวังว่าจะมาช่วยในการทำผังบัญชีทั้งหลายของบริการในรูปของหลักประกันสุขภาพให้เป็นมาตรฐาน ให้ตรวจสอบได้ระยะยาว"

นพ.ประทีป กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า เรื่องกลไกในการจัดสรรเงินของ สปสช. เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฐานะทางการเงินของโรงพยาบาล แต่ปัญหาหลักอีกประการคือ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สธ.มีค่าใช้จ่ายบุคลากรเพิ่มขึ้น ทำให้ รพ.ขนาดเล็กต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ขณะที่ค่าเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช.สามารถบรรเทาได้แค่ส่วนหนึ่ง

"แต่จุดสำคัญคือ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้มีการสร้างโรงพยาบาลขนาดเล็กพื้นที่ต่างๆ ซึ่งตรงนี้ต้องมีการจัดงบให้โดยเฉพาะด้วย ซึ่งคงต้องมีการร่วมมือกันหาทางพูดคุยกับฝ่ายนโยบายต่อไป" นพ.ประทีปกล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 มีนาคม 2558