ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เนชั่นสุดสัปดาห์ : ไม่บ่อยครั้งนักที่จะเห็นทีมผู้บริหารของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันแถลงข่าวในคราวเดียว ทว่า ในวันที่ 19 มีนาคม 2558 ทีมผู้บริหารเกือบทั้งหมด ประกอบด้วย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. และรองเลขาธิการอีก 3 คน คือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ, นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ และ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ แถลงข่าวเรื่อง 'ข้อเท็จจริงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ' เพื่อชี้แจงประเด็นต่างๆ อาทิ ผลตอบแทนจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม การตกแต่งบัญชี กรณีที่ว่าบอร์ด สปสช.ผูกขาด ความคืบหน้าการตรวจสอบการบริหารงบกองทุน ทั้งจาก คตร. และดีเอสไอ ฯลฯ

ทั้งหมดนั้นคงไม่สำคัญเท่ากับกรณีที่ตกเป็นจำเลยว่า คือต้นเหตุให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถูกย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายรัฐมนตรี โดยความเชื่อว่า มีความคิดเห็นไม่ตรงกันเรื่องการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว รวมทั้งมาขุดคุ้ยการทุจริตใน สปสช.

ความขัดแย้งระหว่าง 'คุณหมอ' ครั้งนี้ สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คน กระทั่งมีคนเรียกขานว่าเป็น 'สงครามคนดี' เพราะต่างมีต้นทุนทางสังคมด้วยกันทั้งสิ้น

การที่ 'คนดี' มีความเห็นไม่ตรงกัน คงไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นย่อมขึ้นกับเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งต่างมองจากสถานะและหน้าที่ของตน ขึ้นกับว่าใครยึดอะไรเป็น 'เป้าหมายหลัก'

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการวางโพสิชั่นของสำนักงานเน้นประชาคม และการเข้าถึงบริการของประชาชน ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคส่วนอื่น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้องค์กรต้องหันมาทบทวนการวางตำแหน่งของตัวเองในระบบและการจัดการเพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไป และเกิดความร่วมมือระหว่างกัน

"เพราะระบบหลักประกันฯ ต้องอยู่คู่ประเทศไทย การทำให้ระบบยั่งยืนเราต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราอยากให้ระบบหลักประกันเกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน และรัฐบาลสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ด้วย เป้าหมายสำคัญคือการเข้าถึงบริการของประชาชน เราไม่อยากเห็นคนไทยยากจนล้มละลายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย"

สปสช.เป็นองค์กรของรัฐ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยจัดตั้ง สปสช.เขต เพื่อดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ปีงบประมาณ 2558 สปสช.ได้รับงบฯ จากรัฐบาลสองส่วนหลัก ประกอบด้วย เงินบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวรายละ 2,895.09 บาท จำนวน 48,606,000 คน เป็นเงิน 1.2 แสนล้านบาท และงบบริหารประมาณ 1.2 พันล้านบาท รวมเป็น 1.4 แสนล้านบาท

หากไม่นับข้อขัดแย้งข้างต้น ยังมีคำถามจากนักวิชาการอีกเช่นกันว่า รัฐจะมีเงินสนับสนุนได้อีกนานเท่าไร คนไข้ควรมีส่วนร่วมจ่ายหรือไม่ เพื่อลดการใช้บริการที่ไม่เหมาะสม โอกาสนี้ 'เนชั่นสุดสัปดาห์' จึงชวนสนทนากับ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการที่คนไข้ไม่ต้องจ่ายเงิน ทำให้ใช้บริการบ่อยครั้งขึ้น หรือใช้ยาฟุ่มเฟือย ?

ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องร่วมจ่าย มีความเห็นต่างสองกลุ่มร่วมจ่ายตอนไหน ก่อนใช้บริการ (คือเก็บภาษี) หรือเจ็บป่วยแล้วไปจ่ายที่โรงพยาบาล ตรงนี้มีผลต่อการใช้บริการ ถ้าร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วยทำให้ไม่มีการเลือกว่าตอนเจ็บป่วยจะบริการใครดี ถ้าร่วมจ่ายตอนเจ็บป่วยแล้ว ใครไม่มีเงิน ก็เป็นคนอนาถา ขณะนี้เราไม่มีการร่วมจ่าย ไม่ทำให้บริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในมากกว่าปกติ

ขณะนี้เราให้บริการผู้ป่วยนอก เฉลี่ย 3.5 ครั้งต่อปี แน่นอนว่าเพิ่มมากกว่าเมื่อตอนเริ่มต้น เพราะแนวโน้มการใช้ของประชาชนเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เข้าถึงบริการมากขึ้น เพราะการบริการสะดวกขึ้น แต่เป็นแบบช้าๆ เมื่อเทียบกับไต้หวัน ไต้หวัน 13 ครั้งต่อปี อเมริกาก็ใกล้เคียงกับไต้หวัน ไม่ได้บอกว่าอเมริกาพอมีการร่วมจ่ายใช้บริการน้อยลง แม้กระทั่งสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ก็ไม่มีการร่วมจ่าย

ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมโดนหักเงินทุกเดือน ?

อันนั้นร่วมก่อน เรากำลังพูดถึงประเด็นร่วมจ่าย ณ จุดให้บริการ ประกันสังคมร่วมจ่ายก่อน เพราะมีตัวตนชัดเจน แต่ประชาชนทั่วไป ไม่มีระบบข้อมูลชัดเจน แต่ร่วมจ่ายด้วยระบบภาษี เช่น มูลค่าเพิ่ม ทุกคนร่วมจ่ายตั้งแต่แรกหมด ซึ่งข้าราชการ และประกันสังคม ก็ไม่มีการร่วมจ่าย ณ จุดให้บริการ แต่คุณเรียกร้องให้ประชาชนคน 48 ล้านคน ร่วมจ่ายด้วยเหตุผลว่าจะได้ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย แล้วทำไมข้าราชการไม่เห็นต้องร่วมจ่าย ถ้าต้องการป้องกัน ทุกฝ่ายต้องจ่ายเหมือนกัน

ไม่เหมือนกัน ข้าราชการถือว่าเป็นสวัสดิการที่รับทราบตั้งแต่เข้าทำงาน ประกันสังคมโดนหักเงินเดือน และตามที่บอกว่าประชาชนจ่ายผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนี้ทั้งข้าราชการและสิทธิประกันสังคมก็จ่ายเช่นกัน แต่คนมีเงินเดือนประจำจ่ายภาษีรายได้มีประมาณ 10 ล้าน ขณะที่คน 48 ล้านคนผู้ใช้สิทธิ ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ ?

ภาษีหลักอันหนึ่งคือแวต ใครจ่ายมากกว่ากัน คนต้องกินซื้อของเหมือนกัน แต่รายได้ต่างกัน สัดส่วนแวตเมื่อเทียบกับรายได้ คนส่วนใหญ่คนยากจนจ่ายภาษีมากกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ตนเอง แต่ประเด็นสำคัญของการร่วมจ่าย คือเปิดให้มีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการจะเป็นการสกัดไม่ให้ใช้ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น มีการเสนอกันว่าควรมีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ

มีความเป็นไปได้แค่ไหน และใครเป็นคนตัดสินใจ ?

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ กฎหมายหลักประกันสุขภาพเปิดช่องว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพสามารถให้มีการจ่ายร่วมได้ยกเว้นคนยากจน ก็อยู่ที่คณะกรรมการมาจากหลายส่วน ฝ่ายการเมือง สำนักงบประมาณ ตัวแทนทั้งหลาย อยู่ที่การถกเถียง

มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาหรือไม่ ?

ทุกปีๆ และมีสองเหตุผล เหตุผลหนึ่งคือกลุ่มที่โปรความเท่าเทียม มองว่าการร่วมจ่ายตรงนั้นจะทำให้คนส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึง แม้รัฐจะให้ฟรีก็เป็นแบบอนาถา เพราะทุกคนร่วมจ่ายหมด แต่คุณได้ฟรีเพราะรัฐจ่าย อีกส่วนมองว่านิ้วมือไม่เท่ากัน ตรงนี้อยู่ที่เป้าหมายของสังคมไทยว่าต้องการออกแบบระบบสุขภาพแบบไหน

ยกเลิกการเก็บค่าใช้บริการ 30 บาทตั้งแต่เมื่อไร ?

หลังการปฏิวัติปี 2549 สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ หลังจากนั้นไม่ได้เก็บมาตลอด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้บริการหรือไม่ ไม่ อัตราการใช้บริการเพิ่มแบบช้าๆ เพราะเอฟเฟกต์ของสามสิบบาทเป็นเงินน้อยมาก คือ 2-3 พันล้านบาท เทียบกับงบทั้งหมดแสนกว่าล้านบาท

แต่ สปสช.ของบฯ ต่อหัวเพิ่มขึ้นทุกปี ?

เฉลี่ยเพิ่มปีละ 5-6 เปอร์เซ็นต์ตามเงินเฟ้อ บวกเดือนของผู้ให้บริการ (หมอ/พยาบาล) บางปีเพิ่มมากกว่านั้นตามที่รัฐบาลประกาศ อัตราเงินเฟ้อบวกบริการใหม่ๆ เช่น วัคซีน ฉะนั้น เพิ่มตามด้านรายจ่ายที่เพิ่มโดยธรรมชาติ มีการเพิ่มครั้งใหญ่สมัยรัฐบาลขิงแก่ประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์ มีการรัดเข็มขัดไม่เพิ่มสมัยรัฐบาลเพื่อไทย มีแผนไม่เพิ่มเลยสามปี (แต่เพิ่มปีที่สามเล็กน้อย)

ในบอร์ดเคยคุยกันไหมว่าในอนาคตรัฐจะสนับสนุนไม่ไหว ?

เคยๆ เป็นประเด็นสำคัญว่า อนาคตข้างหน้ารัฐจะสามารถสร้างรัฐสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลได้ต่อเนื่องแค่ไหน คิดกันว่าตราบใดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ถ้าภาพรวมรัฐออกให้บวกประชาชนควักเงินจ่าย หากไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ยังอยู่ในฐานะไปได้ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์กว่า ตัวเลขนี้รวมสวัสดิการราชการ ประกันสังคมและการจ่ายเงินเอง เฉพาะ สปสช.ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี (หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประมาณ 1 แสนล้านบาท) ของเรางบประมาณรวมเงินเดือนด้วยอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท.

ถ้าเรามีเป้าหมายทางสังคมว่าสังคมที่จะมีความสุข ต้องมีช่องว่างน้อย ถ้ารัฐเชื่อแบบนี้ต้องออกนโยบายด้านนี้ ลดช่องว่างให้มากสุด การลดช่องว่างมีหลายมาตรการ ทั้งภาษี ลดรายจ่ายของกลุ่มรายได้น้อย มาตรการทางรายได้ก็เก็บภาษี ใครมีกำลังมากถูกเก็บมาก มาตรการรายจ่าย รัฐเข้าไปดูแลกลุ่มคนด้อยโอกาสมากขึ้น เพื่อเขามีรายจ่ายน้อยลง รัฐไทยเดินนโยบายนี้มาตลอด

เคยคุยกับโรงพยาบาลเอกชนใน กทม. เขาบอกเลิกรับคนไข้ สปสช.เพราะคนไข้ขับรถเก๋งมาโรงพยาบาล แต่ขอใช้สิทธินี้ แสดงว่าไม่เฉพาะคนจนที่ใช้สิทธิ มีการสกรีนอย่างไร ?

เราไม่ต้องสกรีน เพราะเป็นสิทธิของเขา ระบบประกันสุขภาพหลักการไม่ได้แยกว่า ให้บริการเฉพาะคนจน เพราะเราเชื่อว่าถ้าการบริการของรัฐที่จัดเฉพาะคนจน จะเป็นระบบไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการพัฒนา เพราะคนจนไม่มีปากเสียงพอ ถ้าจัดให้การผ่าตัดหัวใจให้เฉพาะคนจน ก็ตามมีตามเกิด ถ้าจัดให้คนมีเงิน-จัดไม่ดี เขาโวย

ไม่ขัดแย้งกันเองหรือ เมื่อครู่บอกว่าให้คนจนเข้าถึงบริการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่นี่คนมีเงินมีสิทธิใช้บริการ ?

ไม่ใช่ คนมีตังค์ก็ไปจ่ายภาษีสิ แต่ว่าทุกคนเข้ามายังโลกบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐด้วยเงินเท่ากัน โอกาสใช้ทรัพยากรที่รัฐลงทุนก็เท่ากันด้วย ความเป็นธรรมก็เกิดขึ้น คนจนใช้เงินร้อยบาท แต่ร้อยบาทมีความหมายกับคนจนมาก ถ้าเซฟตรงนี้ให้เขาได้ ช่องว่างก็น้อยลง ขึ้นกับเป้าหมายของไทยออกแบบแบบไหน ที่ผ่านมาไทยออกแบบว่าจะสร้างความเท่าเทียม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งทำให้ช่องว่างลดลง ดังนั้น ระบบกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ไม่ใช่ช่วยเหลือเฉพาะคนจน แต่ให้ทุกคนเท่ากัน

นั่นเป็นหลักคิดของ สปสช. แล้วโรงพยาบาลรัฐคิดเช่นเดียวกัน ?

ภาคประชาชนทั่วไปเขาต้องการแบบนี้ ต้องการให้คนจน คนรวยไปถึงที่นั่นเหมือนกัน แต่ความคิดของผู้ให้บริการจำนวนมากพอสมควร มีความรู้สึกว่ารัฐไทยน่าจะให้เฉพาะคนจน..ถ้าเราเป็นหมอที่ดี ต้องการช่วยคนไข้มากที่สุด การที่เราเป็นผู้ให้แบบสงเคราะห์ ผิดพลาดยังไง..เราให้บุญคุณเขา ความคิดแบบนี้มีอยู่เยอะ ต้องค่อยๆ เปลี่ยน การบริการของภาครัฐไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นหน้าที่

ผู้ให้บริการซื้อความคิดนี้ไหม โดยเฉพาะภาครัฐ ?

ปัญหาที่เป็นอยู่ซึ่งยังไม่ลงตัวและต้องใช้เวลาอีกนานคือ ผู้ให้บริการจำนวนมากรู้สึกรับไม่ได้ ทำไมต้องให้บริการคนจน เพราะเขามีประสบการณ์ว่าอะไรก็ตามที่ให้บริการคนจน มันไม่ค่อยปรับปรุง แต่คนรวยจะโวย เพราะคนรวยจริงๆ ถ้าไม่จำเป็นเขาไม่ใช้ เช่น เป็นไข้หวัดก็ไปรักษาที่สะดวก ถ้าเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคหัวใจ ถึงใช้บริการเพราะมีสิทธิ เราเริ่มต้นระบบด้วยการสงเคราะห์มาสามสิบกว่าปี เพิ่งทำตามรัฐธรรมนูญสิบกว่าปี ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญสุดของความขัดแย้งระหว่างการจัดเชิงระบบ คือกระบวนทัศน์ (paradigm) ของความคิดความเชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในสังคมไทย

ตามที่พูดถึงเขตสุขภาพของกระทรวง และ สปสช. มีข้อเหมือน หรือต่างกันอย่างไร ?

แนวคิดพื้นฐานเพื่อให้ระบบสมบูรณ์ ต้องแยกผู้ซื้อ-ผู้ขายออกจากกัน นี่คือหลักการหนึ่ง ส่วนที่สองในฟากผู้ซื้อ สปสช.ทำผู้ซื้อรายเขตมาประมาณสิบปี ตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากมีการส่งต่อ ปลายทางอยู่ที่ระดับเขตของโรงพยาบาลศูนย์ กระทรวงสาธารณสุขจัดเขตบริการสุขภาพซึ่งเป็นผลดี ถ้าต่างฝ่ายต่างทำตามหน้าที่ กระทรวงสาธารณสุขทำเขตบริการสุขภาพที่ดี มีระบบส่งต่อ การช่วยเหลือแบบพี่น้องใครๆ ก็สนับสนุน

แนวคิดเราคือกระจายอำนาจจากส่วนกลาง แต่ต้องไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ถ้าก้าวก่าย เพื่อให้ง่ายต้องโอนงบฯ มาให้เขาบริหาร เพื่อให้จัดบริการได้ง่าย มันย้อนยุค ใครจะเป็นคนปกป้องสิทธิ เป็นตัวแทนประชาชน ฉะนั้น ดีที่สุดคือยึดหลักการ แยกระหว่างผู้ซื้อกับผู้จัดบริการ เอาข้อมูลมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ยุบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เขตบริการสุขภาพของกระทรวง และ สปสช. พื้นที่เหมือนกัน ?

แรกสุดกระทรวงเสนอให้โอนเงินตรงไปที่เขต ตามจำนวนประชากร เป็นการย้อนกลับให้งบประมาณกับผู้ให้บริการเป็นเจ้าเดียวกัน ทำให้ไม่มีการถ่วงดุลกัน เพราะหลักการกฎหมายนี้เกิดขึ้น เพื่อแยกผู้ซื้อซึ่งเป็นตัวแทนคนไข้/ประชาชน มาถ่วงดุลกับผู้ให้บริการ แต่ยังไงที่สุดเงินต้องไปถึงหน่วยบริการ แต่การเป็นเขตมีอำนาจบริการรวมอำนาจเม็ดเงินเข้าไปด้วย แล้วอำนาจของประชาชนผู้ซื้อจะเป็นไง แต่ช่วงหกเดือนหลังกระทรวงโดยท่านปลัดฯ บอกไม่มีการเหมาเข่ง แต่ขอเป็นผู้กำหนดกติกาการจัดเงินให้กับโรงพยาบาลว่าจะจัดให้โรงพยาบาลแค่ไหน และส่งมาให้ สปสช. ถ้าแบบนี้ ระหว่างการส่งเงินเหมาเข่งกับการส่งตัวเลข และให้เขาเป็นคนกำหนดกติกาว่าจัดให้ใคร มันก็เหมือนกัน

เหมือนกันอย่างไร ?

การกำหนดกติกาว่าผู้ซื้อมีเงิน 2,500 บาทต่อคน ต้องส่งเงินให้โรงพยาบาลนี้แค่นี้ ไม่ใช่การกำหนดกติกาจากผู้ซื้อซึ่งมาจากตัวแทนส่วนต่างๆ กลไกของผู้ซื้อมาจากคณะอนุกรรมการต่างๆ ไม่มีโอกาสกำหนด ผู้ขายเป็นคนกำหนดว่าต้องส่งเงินให้ใคร แค่ไหน ถ้าเผอิญระบบขณะนี้มีธรรมาภิบาลมากๆ ตรวจสอบได้ ปัญหาก็น้อยลง แต่การเมืองเปลี่ยน การล้วงลูก มันสามารถจัดสรรและเคลื่อนย้ายเงินต่อ

การปฏิรูประบบบริการกับระบบซื้อ ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ?

ตอนนี้ในภาพทั้งแนวคิด กับการพยายามดำเนินอยู่และเกิดขึ้นพอสมควร ในซีกของผู้ซื้อมีการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่เล็กๆ มากขึ้น ตั้งแต่การตั้งกองทุนท้องถิ่น เพื่อดูแลคนห้าพันคน ให้สามารถซื้อบริการเสริม หรือการจัดส่งเงินรายหัวไปยังโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมกับการคุ้มครองให้โรงพยาบาลใหญ่ ด้านหัวใจ จะได้การันตีชดเชย ตัวระบบตรงนี้เปลี่ยนไปมาก การเปลี่ยนตรงนี้เกิดประเด็นว่า การออกแบบซื้อซับซ้อนไปไหม แต่เป็นความจำเป็นต้องแยกการซื้อ เพื่อคุ้มครองทุกฝ่าย ขณะเดียวกันซีกของผู้ให้บริการ เช่น เจาะเลือด 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของภาครัฐ ภาครัฐเกือบทั้งหมดเป็นของกระทรวง กระทรวงรวมศูนย์สามารถแต่งตั้งผู้บริหารโรงพยาบาล เรียกประชุมเมื่อไรก็ได้

เมื่อเร็วๆ นี้ไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง 1) ผู้อำนวยการอยู่โรงพยาบาลสัปดาห์ละวันเดียว ที่เหลือไปเรียนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง คนที่ต้องการความก้าวหน้าต้องเรียน แต่โรงพยาบาลเอกชน ถ้าโรงพยาบาลไม่ทำประโยชน์ให้เขาก็ไม่ส่ง แต่นี่เป็นสิทธิ บวกกับความก้าวหน้าทั้งหมดอยู่ที่ส่วนกลาง ถ้าคุณจะโตมากกว่านี้ต้องผ่านหลักสูตรผู้บริหาร แต่เอกชนถ้าไม่ดูแลโรงพยาบาลตามสัญญาจ้าง ก็อยู่ไม่ได้ 2) ช่วงหลังส่วนกลางเรียกผู้บริหารประชุมมาก หากดูหัวข้อการประชุม ทุกครั้งเหมือนกันเกือบหมด นั่นเป็นเหตุให้ผู้บริหารมีเวลาอยู่โรงพยาบาลน้อย แล้วจะบริหารโรงพยาบาลยังไง

ถ้าเรากระจาย พื้นที่มีโอกาสแต่งตั้ง ผอ.เขาจะหนีไปไหน อาจมีข้อโต้แย้งว่าหากมีโรคระบาด เกิดเป็นรัฐอิสระไม่ฟังกัน ก็จัดระบบกฎหมายสิ ถ้าเกิดโรคระบาดแล้วไม่ฟังส่วนกลาง ก็ถูกปลด เพราะกำลังสร้างปัญหาให้กับประชาชน มันทำได้ ถ้าสามารถปฏิรูปทั้งระบบผู้ซื้อและผู้ให้บริการ มันจะสวยมาก เพราะต่างไปเจอ ไปทำงานกันในพื้นที่.

สินีพร มฤคพิทักษ์ : เรื่อง / พันศักดิ์ เต็งประเสริฐ : ภาพ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มี.ค. - 2 เม.ย. 2558