ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว ร่าเริงเกินเหตุสลับซึมเศร้าถึง 1 ล้าน เสี่ยงต่อฆ่าตัวตายสูง กลุ่มเสี่ยงสูงสุดคืออายุ 20-30 ปี เร่งกระตุ้นโรงพยาบาลใหญ่ทุกเขตสุขภาพจัดหอผู้ป่วยจิตเวช และห้องฉุกเฉินดูแลผู้ป่วยวิกฤติ กระจายยาถึงโรงพยาบาลชุมชน ให้ทีมหมอครอบครัวคัดกรองปัญหาและส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูในชุมชน มั่นใจป้องกันและลดปัญหาฆ่าตัวตายได้      

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 30 มีนาคมทุกปี สมาพันธ์โรคไบโพลาร์สากล (The International Society for Bipolar Disorders) กำหนดให้เป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกเร่งป้องกันและดูแลผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ มีอารมณ์สองขั้วสลับเวียนระหว่างรื่นเริงผิดปกติและซึมเศร้า คาดว่าขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยประมาณ 27 ล้านคน หรือร้อยละ 1- 2 ของประชากรโลก ร้อยละ 20 ฆ่าตัวตายสำเร็จ   

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า การศึกษาในปี 2555 ประเมินจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องเข้าถึงบริการ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นโรคไบโพลาร์ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท การเข้าถึงบริการของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตยังต่ำกว่าโรคทางกายมาก โดยเข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 61 จึงต้องพัฒนาระบบบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่  ในปี 2558 นี้ เน้น 3 เรื่องหลัก คือ 1.เพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวช โดยโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปอย่างน้อย 1 แห่ง จัดหอผู้ป่วยเพื่อดูแลรักษาในโรงพยาบาล  เช่นเดียวกับโรงพยาบาลจิตเวช และพัฒนาศักยภาพห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใหญ่ 33 แห่ง ให้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชในภาวะวิกฤตได้

2.เพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย โดยกระจายยารักษาโรคเฉพาะทางจิตเวช อาทิ ยาต้านโรคจิต ยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านเศร้า ยาคลายเครียด ยากันชัก เป็นต้น สู่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยากินอย่างต่อเนื่องโดยสะดวก และ3.พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการคัดกรองและจัดกิจกรรมส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน จัดทีมหมอครอบครัวลงติดตามดูแลผู้ป่วยทุกรายอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการขาดยา ซึ่งน่าจะลดปัญหาการฆ่าตัวตายได้

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคไบโพลาร์มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ตั้งแต่พันธุกรรม เด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคมีโอกาสเป็นโรคสูงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า รวมทั้งจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความเครียด การประสบวิกฤติชีวิตรุนแรง หรือการใช้สารเสพติด ผู้ป่วยมีอารมณ์ 2 ขั้วสลับกัน ระหว่างซึมเศร้ากับรื่นเริงผิดปกติ กลุ่มเสี่ยงที่สุดคือกลุ่มอายุ 20-30 ปี ซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของการเรียน การทำงาน อาการมักเริ่มจากขยันผิดปกติ คึกคัก แล้วเปลี่ยนเป็นซึมเศร้า ร้องไห้ หรือหลงผิดว่ามีอำนาจวิเศษเหนือคนอื่น หากปล่อยไว้ภายใน 2-3 สัปดาห์ อารมณ์จะรุนแรง ก้าวร้าว จนญาติรับมือไม่ไหว

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า โรคนี้มียารักษา มีอยู่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ประการสำคัญคือคนรอบข้างและครอบครัวต้องช่วยดูแลเรื่องการกินยาสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมคลายเครียด ให้กำลังใจเรื่องเรียนและทำงาน เฝ้าระวังเรื่องการใช้ยากระตุ้นหรือสารมึนเมา เช่น เหล้า หรือ กาแฟ ที่มีคาเฟอีนสูง คอยสังเกตอารมณ์และพฤติกรรม หากเริ่มมีอาการ เช่น พูดมาก พูดเสียงดัง แต่งตัวแปลกๆ ไม่ยอมนอน ให้รีบพบแพทย์หรือปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง