ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากมีความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย พ.ศ...มานานกว่า 6 ปี แต่ยังไม่สำเร็จ มาในปีนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมามีความหวังอีกครั้ง พร้อมทั้งมีการปรับโฉมเป็น ร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ...แทน ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรค์ที่แพทยสภา หน่วยงานเดิมที่เป็นผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมมาตลอด ซึ่งยังคงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ในชื่อใหม่นี้ แถมยังค้านหัวชนฝา แบบว่าถ้าเดินหน้าต่ออาจจะได้เห็นภาพบรรดาแพทย์สวมปลอกแขนสีดำ เผาพริกเผาเกลือ เพื่อเป็นการต่อต้าน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหรือไม่

ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย 

อย่างไรก็ตาม หลังจากแพทยสภาตั้งโต๊ะแถลงคัดค้านไปแล้ว ในทางกลับกัน ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ก็ได้ออกมาเดินหน้าสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ ให้คลอดออกมาเป็นกฎหมายเสียที เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งแพทย์ และคนไข้

“เห็นด้วย และพยายามผลักดันให้ พ.ร.บ.ตัวนี้ผ่าน ต้องพยายามทำความเข้าใจกับแพทย์ทั่วประเทศให้ได้ อย่าไปเชื่อแพทยสภาอย่างเดียว ต้องศึกษาด้วยตัวเองอย่างจริงจัง กฎหมายอาจจะอ่านยากหน่อย แต่เรื่องนี้สำคัญ แล้วจะเห็นว่ามีประโยชน์เยอะ ส่วนตัวแล้วเห็นแตกต่างจากแพทยสภาที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้แน่นอน”

ทั้งนี้ นพ.ไพโรจน์ บอกว่า โดยหลักการของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ทั้งตัวร่างของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และตัวร่างของ คปก. หลักการของทั้ง 2 ร่างนี้เหมือนกัน รายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นฉบับไหนก็เป็นประโยชน์ทั้ง 2 ร่าง คือเวลาที่มีความเสียหายจากการรักษาพยาบาลจะต้องไม่มีการพิสูจน์ความผิด และจะมีการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับผู้ได้รับความเสียหายเร็ว และเหมาะสม ถือเป็นที่สิ้นสุด เพราะมีข้อกำหนดว่าเมื่อผู้เสียหายยอมรับเงินชดเชยแล้วจะต้องเซ็นสัญญายอมความ เท่ากับเป็นการยุติทางแพ่ง จะฟ้องแพ่งไม่ได้ ส่วนทางอาญายุติไม่ได้เพราะเป็นเรื่องเพื่อการปกป้องสังคม แต่กฎหมายยังบัญญัติไว้เพิ่มเติมว่าหากพิจารณาตามความดีความชอบแล้ว ศาลสามารถลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้ หรือไม่ลงโทษเลยก็ได้ ถ้าไม่มีมาตรานี้ออกมาศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ ก็เป็นการช่วยแพทย์อีกทางหนึ่ง ดีกว่าไม่มีอะไรเลย และในทางกลับกันจะทำให้แพทย์ถูกฟ้องร้องน้อยลงด้วย เพราะผู้ป่วยได้รับการเยียวยา

ถ้าไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดจะทราบได้อย่างไรว่าใช้จ่ายเงินเพื่อการชดเชยความเสียหายได้อย่างสมเหตุสมผล?

ในมาตรา 6 มีข้อยกเว้น กรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัย หรือเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ หรือหลีกเลี่ยงได้ สมมติว่าเป็นเรื่องตามพยาธิสภาพของโรคเอง พวกนี้กองทุนก็ไม่ต้องจ่าย จะจ่ายก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ หลีกเลี่ยงได้ แต่ไม่ได้ หรือทำให้ดีพอกองทุนถึงจะจ่ายให้ แต่ไม่ต้องพิสูจน์ว่าถูกหรือผิด เช่น รพ.รัฐคนไข้เยอะ แพทย์น้อย คนหนึ่งตรวจแค่ 5 นาที เกิดความผิดพลาดขึ้น เช่นนี้ถือเป็นความผิดพลาดเชิงระบบ แพทย์ไม่ได้ทำผิดแต่ว่ากองทุนต้องจ่ายให้เพราะคนไข้ก็ไม่ได้มีความผิดเหมือนกัน ตรงนี้ดีทั้งต่อแพทย์และคนไข้เอง

ก่อนจ่ายต้องพิจารณาอะไรหรือไม่ ต้องใช้เวลาแค่ไหน?

เรื่องนี้ไม่ต้องมีการพิสูจน์ แต่อันที่ 1 แพทยสภาบอกว่าสัดส่วนแพทย์ต้องเยอะกว่านี้ จริงๆ ไม่ต้องมีแพทย์เลยจะดีกว่า เพราะว่าไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูก ผิด ถ้าอย่างนี้แล้วจะให้มีแพทย์ไปทำไม เอามาพิสูจน์อะไร แค่ดูว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหรือไม่ เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เป็นไปตามการดำเนินของโรคหรือไม่ แต่ถ้าเป็นการตกเตียงทำไมถึงผิด เพราะอาจจะเกิดขึ้นจากเตียงไม่ดี หรือเป็นเพราะตัวคนไข้เอง แต่อยู่ในโรงพยาบาลดังนั้นก็ต้องมีการจ่ายเงินชดเชยเพราะถือว่าระบบไม่ดี เรื่องนี้กรรมการที่ไม่ใช่แพทย์ก็ดูได้ เพราะไม่ได้พิสูจน์ถูกผิดเลย ก็พิจารณาเป็นตัวเงินว่าเสียหายไปเท่าไหร่ ต้องดูว่าถูกกาลเทศะ ทำให้ต้องขาดงานเพิ่ม คิดให้ไปเท่านี้ เมื่อคนไข้ก็ยินยอมรับเงินไป หรือถ้าพบว่ามีแพทย์เป็นกรรมการอยู่ด้วยอาจจะเกิดความคิดว่าจ่ายชดเชยให้จำนวนเท่านี้น้อยเกินไปเพราะเกรงใจ แพทย์ที่เป็นกรรมการหรือไม่ ช่วยพวกเดียวกัน ดังนั้นน่าจะดีกว่าหรือ เรื่องนี้เห็นตรงข้ามกับแพทยสภาเลย

ถ้าไม่มีแพทย์เป็นกรรมการเลย แล้วคนที่ไมใช่แพทย์จะทราบได้อย่างไรว่าแท้จริงแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย เกิดจากพยาธิสภาพของโรคจริงๆ หรือเกิดจากความประมาทที่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายได้ โดยเฉพาะโรคยากๆ ?

สมมติว่าเป็นไข้เลือดออก สมมติว่าแม่พาลูกไปหาแพทย์ แพทย์ตรวจแล้วพบว่าเป็นไข้ และน่าจะเป็นแค่ไข้หวัดเฉยๆ จึงสั่งยาให้ไปรับประทาน อีก 2 วันค่อยมาแพทย์ใหม่ แต่ปรากฏว่าพอกลับไปถึงบ้านเด็กช็อก เพราะโรคเข้าสู่ระยะที่ 2 พอดี แม่พาลูกกลับมาหาแพทย์แทบไม่ทัน แล้วแพทย์รีบให้น้ำเกลือ และให้การรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วคนไข้ต้องนอนโรงพยาบาล 5 วัน แบบคนธรรมดาจะบอกว่าเป็นความผิดพลาดของแพทย์หรือไม่ คนไข้ควรได้รับการชดเชยหรือไม่ ในส่วนของแพทย์อาจจะคิดว่าไม่ควรได้รับการชดเชยก็ไม่ผิด แต่ถ้าแพทย์คิดตรงข้ามกับประชาชนอย่างนี้ก็ให้โอกาส ถ้ากรรมการบอกว่าควรให้ชดเชยเพราะถือเป็นความเสียหาย เพราะว่าแพทย์อาจจะวินิจฉัยในวันแรกๆ ได้ สามารถป้องกันได้ หลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้นก็คือว่าจ่ายค่าชดเชยให้คนไข้ไปเลย แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเสียหายเพราะกฎหมายระบุชัดแล้วว่าห้ามไปพิสูจน์ถูกผิด ถ้าบอกว่าวันนั้นแพทย์น่าจะทำได้ดีกว่านี้ถือว่ากำลังก้าวเข้าไปพิสูจน์ความผิด ถือว่าผิดตามมาตรา 5  กรณีอย่างนี้เอาแค่รู้ว่าเป็นความเสียหายที่อาจจะหลีกเลี่ยงได้กองทุนต้องจ่ายเพื่อเป็นการเยียวยา ถามว่าคนไข้คนนี้ จะทำให้พ่อแม่ต้องขาดงาน ดังนั้นกองทุนน่าจะต้องชดเชยรายได้ของแม่ที่ต้องหยุดงานเพื่อดูแลลูก ถือว่าเป็นธรรมดี

แต่การจะจ่ายชดเชยแต่ละครั้งคนไข้ต้องเรียกร้องก่อนถึงจะมีสิทธิได้รับการชดเชย ?

คนไข้ต้องแจ้งความจำนงต่อกองทุน ถ้าไม่ยื่นกองทุนก็มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาล ดังนั้นคนไข้จะฟ้องร้องหรือยื่นต่อกองทุน กองทุนจะประเมินความเสียหายและชดเชยภายใน 30 วัน ถ้าผู้เสียหายไม่พอใจอัตราค่าชดเชยก็ยื่นอุทธรณ์ได้ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาประเมินความเสียหายอีก 30 วัน

แพทยสภาเตรียมค้านหัวชนฝาเกรงว่าจะเป็นการซ้ำรอยเมื่อหลายปีก่อนหรือไม่ที่มีแพทย์ออกมาต่อต้านเยอะมาก ?

เมื่อก่อนนั้นก็เป็นกลุ่มเดียวกันนี้เองที่ต่อต้านมาตรา 41 แล้วมาวันนี้บอกว่ามาตรา 41 ดี ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นออกมาต่อต้าน เสร็จแล้วพอผ่านมาก็บอกว่ามาตรา 41 ดี ต้องมาขยายเพิ่ม ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่มีความรู้ แล้วแพทย์ทั่วไปก็ไม่ได้อ่านกฎหมายก็ไปเชื่อถือว่าเป็นคนที่ถูกเลือกตั้งมา เขาเคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะไม่ใช่แพทย์ทั้งประเทศที่เชื่อ ยังมีแพทย์อีกมากที่ไม่เห็นด้วยกับแพทยสภา แต่จริงๆ ออกมาเคลื่อนไหวก็ดีจะได้ชี้แจง และถ้าเข้าใจก็คิดว่าน่าจะสลายตัวไปเอง

การขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมสิทธิอื่นๆ และขยายวงเงินสูงถึง 2 ล้านบาท เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.ตัวใหม่นี้ เท่ากับว่ามีหลักการคล้ายกันหรือไม่ ?

การขายวงเงินตอนนั้นบอกว่าจะขยายจาก 4 แสนมาเป็น 1 ล้านบาท แต่ 1 ล้านไม่พอ ตอนหลังเลยบอกว่าขยายเป็น 2 ล้าน แต่ยังไงก็ไม่พอถ้าเกิดว่าความเสียหายมากกว่านั้น ถ้าต้องดูแลคนพิการไปทั้งชีวิต อย่างนี้ไม่พอ หรือถ้าจะไปแก้ที่มาตรา 41 จริง ก็ขอให้เป็นวงเงินที่ไม่จำกัด ให้เป็นไปตามความเสียหายตามประมวลแพ่งไปเลย แบบนี้ถึงได้ประโยชน์ก็ทำไป เพียงแต่ปัญหาคือมาตรา 41 ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อฝั่งแพทย์ด้วย เพราะจ่ายชดเชยอย่างเดียวโดยไม่สนใจอย่างอื่นๆ แบบนี้แล้วจะดีได้ ถ้าบอกว่าขยายมาตรา 41 ให้ยุติทางกฎหมายอย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าเป็นเรื่องง่าย พ.ร.บ.นี้ทำไมไม่ระบุ ทำไมต้องไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะนักกฎหมายอาจจะบอกว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะไม่รับและไปฟ้องร้องได้ ถ้าหลายกระบวนการอย่างนี้เดี๋ยวผ่านไปหลายๆ ครั้งก็ต้องมีการแก้ไข สุดท้ายหน้าตาก็อาจจะเหมือนกับร่าง พ.ร.บ.ใหม่ก็ได้

กฎหมายใหม่ กองทุนใหม่ ต้องมีการตั้งสำนักงานใหม่ คนทำงานใหม่ ซึ่งต้องใช้งบเพิ่ม ?

ถ้าปกติแล้ว ถ้ามีกฎหมายนี้ขึ้นมาจะต้องโอนกิจการของมาตรา 41 มาไว้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นสำนักงานเดิมที่ดูแลมาตรา 41 อยู่ก็จะกลายมาเป็นสำนักงานที่ดำเนินงานตามกฎหมายใหม่ ไม่ได้มีการตั้งสำนักงานใหม่ แต่เป็นการใช้โครงสร้างเดิมทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพราะมาตรา 41 ไม่ได้ถูกใช้แล้ว เพียงแต่เพิ่มสิทธิอีก 2 สิทธิเข้าไป แทนที่จะดูแลคนเพียง 45 ล้านคน ก็เป็นดูแลทั้งหมด และวงเงินก็เพิ่มขึ้นจาก 1% ของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็กลายเป็น 1% ของประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ เป็นกฎหมายเดียวครอบคลุมทั้งหมด

คนเดิมที่เดิมทำเพียงสิทธิบัตรทอง พอมีสิทธิอื่นเพิ่มเข้ามาจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวหรือไม่ เพราะไม่คุ้นเคยกับประกันสังคม และข้าราชการมาก่อน ?

ไม่ยากเลย เพราะว่ากองทุนเป็นสิ่งที่ทำออกมาให้เห็น แยกส่วนจากงบอื่นๆ เพื่อให้เห็นชัดว่าเป็นภารกิจการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น แต่เรื่องสถานที่จะใช้อันเดิมหรือย้ายสถานที่ก็ได้ อาจจะมีการเพิ่มคนเข้ามา แต่ถ้าบอกว่าไม่อยากอยู่กับ สปสช. ก็ย้ายโครงสร้างนั้นมาอยู่กับกองประกอบโรคศิลป์ ซึ่งก็ไม่ต้องไปสร้างอาคารใหม่ ห้องใหม่ เพราะที่นี่มีห้องประชุม มีห้องทำงานอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรอีก แค่เพิ่มภาระงาน อย่างคนที่ทำมาตรา 41 เดิมเขาก็มีภาระหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้วยังทำภารกิจมาตรา 41 เพิ่มได้ สลับเวลากันมาเพื่อพิจารณา.