ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“5 อำเภอ 1 เครือข่าย” รูปแบบการจัดระบบการรักษาพยาบาลของ 5 อำเภอ คือ แม่จัน แม่ฟ้าหลวง ดอยหลวง เชียงแสน และเวียงเชียงรุ้ง ที่รวมเป็นหนึ่งเขตบริการในพื้นที่ จ.เชียงราย แม้ว่าเพิ่งจะเริ่มต้นได้เพียง 6 เดือน แต่ไม่เพียงทำให้หน่วยบริการในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนมีทิศทางการพัฒนาการบริการประชาชนที่ชัดเจนขึ้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพดำเนินงานให้กับโรงพยาบาลแต่ละแห่งจากการจัดการร่วมกัน

เริ่มต้นจากสภาพพื้นที่ ปัญหาประชากรน้อย ที่ส่งผลต่องบประมาณดำเนินงานที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะ แม้ว่าโรงพยาบาลในพื้นที่นี้จะไม่ถึงขั้นวิกฤตขาดทุนรุนแรงอย่างโรงพยาบาลตามพื้นที่ชายแดนในจังหวัดอื่นๆ แต่ก็มีเม็ดเงินที่จำกัดในการดูแลประชาชน จึงต้องใช้การบริหารที่มีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการบริหารเครือข่ายระบบบริการ คณะกรรมการการเงินการคลัง และคณะกรรมการจัดหายา เวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ 

นพ.สุรชัย ปิยวรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่จัน ในฐานะประธานกรรมการบริหารเครือข่ายระบบบริการ กล่าวว่า ด้วยโรงพยาบาลแต่ละแห่งซึ่งมีหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เป็นเครือข่ายบริการในอำเภอ ต่างได้รับงบประมาณไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในอำเภอและผลงานการบริการ ส่งผลให้โรงพยาบาลที่มีประชากรน้อยและมีศักยภาพการบริการไม่มากนัก งบประมาณที่ได้รับบางครั้งอาจไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้จึงมองว่าในฐานะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากและมีศักยภาพการบริการ จึงควรทำหน้าที่ดูแล รพ.เหล่านี้ พร้อมกันนี้ยังได้เดินหน้ารวมบริหารจัดการร่วมกัน

หลักคิดง่ายๆ ของการรวมการบริหาร 5 อำเภอ 1 เครือข่ายในที่นี้ นพ.สุรชัย กล่าวว่า คือ การรวมทรัพยากรเพื่อบริหารร่วมกัน โดยมองทั้ง 5 อำเภอเป็นหนึ่งเดียว จากที่แต่เดิมโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต่างคนต่างบริหารกันเอง ทำให้เกิดการแข่งขันและแย่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะต่างมุ่งพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อดูแลคนในพื้นที่ แต่เมื่อมีการบริหารร่วมกันทำให้มีการจัดระบบรักษาพยาบาลรูปแบบเครือข่ายที่เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันแทน ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลทั้งระบบ ทั้งนี้ทิศทางการดำเนินงาน เบื้องต้นได้แบ่งการบริหารเครือข่ายออกเป็น 3 ส่วน โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงาน 3 ชุด คือ

1.คณะกรรมการบริหารเครือข่ายบริการ มี ผอ.รพ.แม่จัน เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะบริหารจัดการเครือข่ายบริการร่วมใน 5 อำเภอ โดย รพ.แม่จัน โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขนาด M2 ดูแลผู้ป่วย 100 เตียง จะรับหน้าที่เป็น รพ.แม่ข่าย ทำหน้าที่รับส่งต่อดูแลผู้ป่วยใน กรณีที่เกินศักยภาพการรักษาของ รพ.ใน 4 อำเภอ และเตรียมที่จะพัฒนาขีดความสามารถการรักษา โดยเตรียมที่จะขยับเป็น รพ.ขนาด M1 ใน 3 ปี ดูแลผู้ป่วยใน 250 เตียง พัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในบริการ รวมถึงการเพิ่มแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งขณะนี้ รพ.แม่จันได้ส่งแพทย์ไปเรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งจะกลับมาทำงานในพื้นที่ เพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ 5 อำเภอได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวทางการพัฒนาเครือข่ายบริการนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่ยังช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยใน รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งแต่เดิม รพ.เหล่านี้จะส่งต่อผู้ป่วยในไปยัง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ทั้งหมด แต่ก็ประสบปัญหาการเข้าถึง เนื่องจากเป็น รพ.ระดับจังหวัด ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีความยากลำบากเพราะตั้งอยู่ไกล ทำให้การเดินทางไม่สะดวก 

“รพ.แม่จันรับดูแลเฉพาะผู้ป่วยใน กรณีที่เกินศักยภาพ รพ.ในการรักษา ยกเว้นกรณีผู้ป่วยนอกที่ต้องพบแพทย์เฉพาะ แต่ในส่วนผู้ป่วยนอกทั่วไป ชาวบ้านจะยังคงรับบริการ รพ.ในพื้นที่เช่นเดิม ซึ่งการจัดบริหารในรูปแบบเครือข่ายทำให้ รพ.แต่ละแห่งมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดแจน ไม่ต้องแข่งขันหรือแย่งทรัพยากรกันเอง ทั้งนี้ปัจจุบัน รพ.แม่ฟ้าหลวง รพ.ขนาด 30 เตียง รพ.เชียงแสน 60 เตียง รพ.เวียงเชียงรุ้ง 30 เตียง และ รพ.ดอยหลวง ซึ่งเป็น รพ.จัดตั้งใหม่ ยังไม่รับดูแลผู้ป่วยใน แต่คาดว่าจะเป็น รพ.ขนาด 10-30 เตียง” ผอ.รพ.แม่จัน กล่าว

นพ.สุรชัย กล่าว่า ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2 คือ คณะกรรมการบริหารการเงินการคลัง มี ผอ.รพ.แม่ฟ้าหลวง เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะดูภาพรวมงบประมาณทั้ง 5 รพ.ในเครือข่าย เพื่อบริหารจัดการงบประมาณร่วมกัน โดยเป็นการบริหารทางบัญชี ไม่ได้นำงบประมาณมารวมกัน จากข้อมูลข้างต้นนี้ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีประชากรไม่เท่ากัน ส่งผลให้บาง รพ.มีงบประมาณน้อยและประสบปัญหาการบริหาร ดังนั้นคณะกรรมการชุดนี้จะดูว่า รพ.ไหนมีปัญหาก็จะช่วยกันดูแล รวมถึงกรณีการตามจ่ายผู้ป่วยส่งต่อ ที่นอกจากเพิ่มศักยภาพการบริหารเพื่อประหยัดงบประมาณของ รพ.แล้ว ยังช่วยเฉลี่ยงบประมาณ เพื่อให้ รพ.สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ  

“การจัดการด้านการเงินการคลัง อย่างเช่น การซื้อยาและเวชภัณฑ์ จากแต่เดิมจะเป็นรูปแบบต่างคนต่างซื้อ แต่เมื่อรวมการจัดซื้อ รพ.ทั้ง 5 แห่ง ทำให้ซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์จะเป็นในรูปแบบของการลงทุนร่วมกัน เช่น เครื่องตรวจจอประสาทตา จะซื้อเครื่องเดียวแต่ใช้ตรวจรักษาให้กับชาวบ้านใน 5 อำเภอ เป็นต้น ซึ่งทำให้แต่ละ รพ. ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องมือกันเอง ทำให้เกิดความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ”

3.คณะกรรมการจัดหายาและเวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ มี ผอ.รพ.เชียงแสน เป็นประธาน ทำหน้าที่ในการจัดหายา รวมการจัดซื้อและต่อรองราคา ที่เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง เพราะเมื่อปริมาณการจัดซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้การต่อรองราคากับบริษัทยาและเวชภัณฑได้มากขึ้น ทำให้ รพ.แต่ละแห่งประหยัดงบประมาณลงได้

นพ.สุรชัย กล่าวว่า คณะกรรมการทั้ง 3 ชุด จะมีตัวแทนของแต่ละ รพ.ในส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ร่วมตัดสินใจและกำหนดทิศทางการดำเนินงาน 5 อำเภอ 1 เครือข่าย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการร่วมกันมา 6 เดือนแล้ว และคาดว่าภายใน 1 ปีจะเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรมจากการร่วมบริหารนี้ ทั้งนี้แม้ว่าในแง่งบประมาณจะมีการรวมบริหารจัดการแล้วก็ยังไม่เพียงพอ แต่ดีกว่าจะต่างคนต่างบริหาร ซึ่งจะทำให้ รพ.ที่มีงบประมาณน้อย ประชากรน้อย ต้องแบกรับภาระหนัก ซึ่งจะกระทบต่อการดูแลผู้ป่วย   

ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การบริหารในรูปแบบ 5 อำเภอ 1 เครือข่าย เป็นการบริหารที่ส่งผลดีต่อ รพ.แม่ฟ้าหลวง เพราะเมื่อรวมประชากรจะทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยใน 5 อำเภอมีประชากรรวมกันประมาณกว่า 2 แสนคน โดยในส่วนของ รพ.แม่ฟ้าหลวงมีประชากรเพียง 20,000 คน ทำให้งบที่ได้รับจัดสรร แม้ว่าจะไม่ประสบภาวะขาดทุน แต่ทำอะไรไม่ได้มาก ขณะเดียวกันเริ่มมีผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิใดๆ อาทิ กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลกองทุนบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะก่อนหน้านี้ รวมถึงกลุ่มคนไร้สัญชาติที่อยู่ตามชายขอบประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้น ดังนั้น รพ.แม่ฟ้าหลวงนอกจากการบริหารงบประมาณและทรัพยากรประหยัดมากที่สุดแล้ว การรวมบริหารจัดการ 5 อำเภอ 1 เครือข่าย เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เข้ามาช่วยได้

“การรวม 5 อำเภอ 1 เครือข่าย เป็นการบริหารแบบวิน-วิน นอกจากการจัดการจัดเครือข่ายบริการและการจัดซื้อยารวมแล้ว ยังมีการกันงบประมาณความเสี่ยงร้อยละ 20 จากงบผู้ป่วยนอก เพื่อเป็นงบกองกลางของ 5 เครือข่ายบริการ เพื่อนำมาช่วยเหลือกัน” ผอ.รพ.แม่ฟ้าหลวง กล่าวและว่า รพ.แม่ฟ้าหลวงต้องบอกว่าได้รับประโยชน์การจากจัดซื้อรวม ที่เห็นชัดเจน คือการจัดซื้อน้ำยาชันสูตร จากที่แต่เดิม รพ.แม่ฟ้าหลวงต้องถูกบวกค่าขนส่งด้วย แต่เมื่อมีการรวมจัดซื้อทำให้เราไม่ต้องเสียค่าขนส่งนี้