ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
สาธารณสุขไทยประกาศใช้ยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัยทั้งตลาดบน ตลาดล่าง เตรียมออกกฎหมายคุมผักผลไม้บรรจุแพ็ค เข้มร้านที่มีพนักงานต่างด้าว รณรงค์อาหารแผงลอยปลอดภัยบนถนน 12 สาย 12 จังหวัด ตั้งศูนย์ประเมินความเสี่ยงสารเคมีในอาหารระดับอาเซียน เผยผลตรวจผักผลไม้ในตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ด่าน อย.ในปี 2557 พบสารเคมีตกค้างร้อยละ 7-9 ผักพบมากสุดคือ ใบบัวบก ดอกหอม แขนงกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผลไม้พบมากสุดคือ สาลี่ แอปเปิ้ล ส้ม แตงโม แคนตาลูป ผักผลไม้สดนำเข้าพบปนเปื้อนมากสุด คือ บร็อคโคลี พริกแห้ง ผักป๋วยเล้ง ส้ม แก้วมังกร องุ่น
 
วันนี้ (8 เมษายน 2558 ) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้แทนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ผู้แทนจากสำนักงานโรคระบาดใน สัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties : OIE) และผู้บริหาร แถลงข่าวและเปิดนิทรรศการเนื่องในวันอนามัยโลกประจำปี 2558 ตรงกับวันที่ 7 เมษายนทุกปี ในปีนี้องค์การอนามัยโลกขอให้ทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร กำหนดคำขวัญว่า อาหารปลอดภัยสร้างได้ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร (How safe is your food? From farm to plate, keep it safe) เนื่องจากทุกปีมีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนเชื้อโรและสารเคมี ปีละประมาณ 2 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 4 คน ผลกระทบของอาหารที่มีสารเคมีตกค้างระยะยาวคือโรคมะเร็งสูงขึ้นด้วย
 
ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า เรื่องอาหารปลอดภัย ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทยเนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยการดำรงชีวิต ต้องกินเข้าสู่ร่างกายทุกวัน ผลกระทบในระยะสั้นเกิดหลังกินอาหารประมาณ 2-3 ชั่วโมง เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 3,200 คน/วัน หรือปีละกว่า 1 ล้านคน ล่าสุดปี 2557 มีจำนวน 1.2 ล้านกว่าคน เสียชีวิต 9 คน พบได้ทุกวัย ทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม เช่น ในงานเลี้ยงงานบุญ ไปทัศนาจร และยังพบว่าตลอดกว่า 10 ปีนี้ คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงอันดับ 1 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ปีละ 60,000 กว่าคน แนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ
 
จากผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยผัก ผลไม้ ที่จำหน่ายในตลาดสดซุปเปอร์มาร์เก็ต และที่ด่านนำเข้าอาหารต่างประเทศ ล่าสุดในปี 2557 ตรวจรวม 60,000 กว่าตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยร้อยละ 7-9 กลุ่มผักสดที่ตกมาตรฐานสูงสุดได้แก่ ใบบัวบก ดอกหอม ผักแขนงกะหล่ำปลีกะหล่ำดอก กลุ่มผลไม้ที่ตกมาตรฐานอันดับ 1 ได้แก่ สาลี่ แอบเปิ้ล ส้ม แตงโม แคนตาลูป ในกลุ่มนำเข้า ผักที่ตกมาตรฐานสูงสุดได้แก่ บร้อคโคลี่ พริกแห้ง ป๋วยเล๊ง ผลไม้ที่พบสูงสุดได้แก่ ส้ม แก้วมังกร และองุ่น จึงต้องเร่งดูแลความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายทั้งตลาดค้าส่ง ตลาดบน เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต และตลาดล่าง เช่น ตลาดสด ตลาดนัด แผงลอยข้างถนน ให้ได้มาตรฐานทุกแหล่ง โดยรัฐบาลบูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องและระหว่างกรมวิชาการภายในกระทรวง เริ่มตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงพร้อมรับประทานบนโต๊ะ ทั้งในและนอกครัวเรือน
 
ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย 4 มาตรการ มาตรการที่ 1 การกำกับดูแลผักผลไม้ ก่อนออกสู่ตลาดภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมมาตรฐานผักผลไม้ที่บรรจุในภาชนะที่นิยมวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างฯ สินค้าเหล่านี้ต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพีหรือจีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน ผู้จำหน่ายต้องแสดงฉลากและตราสัญลักษณ์ มีรหัส สินค้า ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งวัตถุดิบได้ พัฒนาระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหาร ผัก ผลไม้ ขยายคณะกรรมการอาหารปลอดภัยลงสู่ระดับเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต และทุกจังหวัดเชื่อมโยงกับส่วนกลางที่เชื่อมโยงกับองค์การอนามัยโลก
 
มาตรการที่ 2 จัดตั้งศูนย์ประเมินความเสี่ยงภัยสุขภาพจากสารเคมีภาคเกษตรระดับอาเซียน ณ กรมวิทยา- ศาสตร์การแพทย์ ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาชุดทดสอบอย่างง่าย เพื่อตรวจหาสารเคมีภาคเกษตรตกค้างในผัก ผลไม้ ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาปรับปรุงค่าระดับความปลอดภัยของสารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้ ให้สอดคล้องกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร พัฒนาชุดทดสอบอย่างง่าย เพื่อตรวจสารเคมีที่เป็นปัญหาของประเทศมาตรการที่ 3 ตั้งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจผักผลไม้ที่ด่านระหว่างประเทศ มาตรการที่ 4 ความร่วมมือกระทรวงเกษตรฯ ควบคุมสารเคมีทางการเกษตรภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
 
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเร่งด่วนอีก 2 เรื่อง คือ การจัดระบบเฝ้าระวัง ป้องกันอาหารที่จำหน่ายทั้งในและหน้าโรงเรียน การกำกับมาตรฐานร้านอาหาร และร้านอาหารแผงลอยข้างถนน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ชิดประชาชนมาก ได้มอบหมายให้กรมอนามัยเพิ่มการอบรมร้านอาหารที่มีพนักงานเสริฟเป็นแรงงานต่างด้าว การจัดโครงการถนนอาหารปลอดภัย 12 สายนำร่องใน 12 จังหวัด ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย 2558 คือตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรีรัมย์ เลย เพชรบูรณ์ ลำปาง น่าน ชุมพร นครศรีธรรมราช และตรัง เปิดตัวปลายเดือนนี้ พัฒนาร้านอาหารในท่าอากาศยาน 10 แห่งเช่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต สุวรรณภูมิ นอกจากนี้จะผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมาย คือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ว่าด้วยตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร โดยเฉพาะกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะตลาด พ.ศ.2551 เพื่อตรวจความปลอดภัย แนะนำร้านอาหารแผงลอย ก่อนออกใบอนุญาต ใบรับรองการแจ้ง รวมถึงการควบคุมดูแลความปลอดภัยอาหารวางจำหน่ายในตลาดนัด ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในขณะนี้ เพื่อคุ้มครองสุขภาพคนไทยทุกระดับ ให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหาร