ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่สำนักข่าว Health Focus ได้เผยแพร่บทความของ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา เรื่อง ทำไมแพทยสภาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (ดู ที่นี่) ซึ่งมีการเผยแพร่ใน นสพ.มติชน วันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.เทพ เวชวิสิฐ แพทย์และนักกฎหมายที่ปรึกษาเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เขียนบทความแสดงความเห็นต่างในอีกมุมมอง จึงได้นำมาเผยแพร่ต่อ มีรายละเอียดดังนี้

นพ.เทพ เวชวิสิฐ แพทย์และนักกฎหมายที่ปรึกษาเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

“ผมได้อ่านบทความของโฆษกแพทยสภาแล้ว มีความเห็นว่าการให้คนไข้จ่ายเงินช่วยกันเองผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นั้นเป็นประโยชน์ คนไข้จะได้รับความช่วยเหลือโดยไม่ต้องไปฟ้องหมอ การที่คนไข้ลงขันช่วยกันเองหมอก็ไม่ต้องจ่ายเงิน ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย การที่แพทยสภาค้านหัวชนฝานั้นเพราะมีอีโก้สูง เคยกดขี่ข่มเหงคนไข้ ช่วยเหลือแพทย์ที่ทำผิดมาตลอดจนได้รับเลือกทุกสมัย การมี พ.ร.บ. ถือเป็นเรื่องที่เสียหน้า คนไข้จะมาตรวจสอบแพทย์ไม่ได้ คนไข้จะไปรู้อะไร จึงไม่ยอมให้คนไข้เข็นกฎหมายดีๆ ออกมาใช้ แม้ว่ากฎหมายนั้นจะดีต่อทุกฝ่ายก็ตาม

แพทยสภาชอบอ้างอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่กลับไม่เคยทำตามที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ หาเสียงยุยงแพทย์สมาชิกให้เข้าใจ พ.ร.บ.แบบผิดๆ ออกเดินสายฝ่ายเดียวล้างสมองแพทย์ทั่วประเทศ เป็นหมอมักต่อว่าคนไข้ที่ว่ารู้ดีเป็นหมอหรืออย่างไร แต่เวลาหมอมาทำเรื่องกฎหมาย นักกฎหมายก็มักส่ายหัวแบบหมอว่าคนไข้ คือถือเข็มฉีดยาถือมีดผ่าตัดก็ดีแล้ว มาทำกฎหมายหากไม่รู้เรื่องก็ควรฟังเขาบ้าง ถ้าหมอฟังกฤษฎีกาก็จะเหมือนคนไข้ฟังหมอทำนองเดียวกัน

การที่แพทยสภาจะขยาย ม.41 นั้น แม้แต่นักกฎหมายปี 1 ก็รู้ว่าทำไม่ได้ เพราะเมื่อแก้ไขแล้วจะบังคับใช้ได้เฉพาะพระราชบัญญัตินั้น จะไปใช้บังคับข้าราชการและประกันสังคมไม่ได้ การแก้ พ.ร.บ. 1 ให้ไปเก็บเงิน พ.ร.บ. 2 พ.ร.บ. 3 นั้นเปลืองเงิน เปลืองเวลาและทำไม่ได้ ถ้าทำอย่างนี้อีกหน่อยกระทรวง ก. ก็จะแก้ไขกฎหมายไปเอางบประมาณของกระทรวง ข. ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายทำไม่ได้

อีกทั้งการขยาย ม.41 ก็ยังคงเป็นเพียงเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแบบเดิม ที่ไม่ได้ตัดสิทธิ์การฟ้องต่อ เพราะไม่ใช่เงินเยียวยาแบบคดีละเมิด การฟ้องร้องก็จะยังคงมีอยู่ แต่หากเป็นการออก พ.ร.บ.ใหม่ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ โดยเก็บเงินจากพ.ร.บ. เก่า 3 แห่งนั้นสามารถทำได้ ง่ายกว่า เร็วกว่า และเงินกองทุนเดิมก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่โอนมาสมทบเป็นกองทุนเดียว

การที่แพทยสภาอ้างว่าอาจเกิดความเสียหายจากการตั้งกองทุนใหม่นั้น เปรียบได้กับการใส่ร้ายของหมาจิ้งจอกที่อ้างว่าสงสารลูกไก่ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ไม่ได้เอาเงินงบประมาณใหม่ แต่เป็นการโอนเงินจากกองทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นเงินที่รัฐบาลให้คนไข้แบบให้ขาด สปสช.หักไว้ 1 % เอาไว้ช่วยเหลือคนไข้ที่เสียหายจากการรักษา

ดังนั้นแพทยสภาจะเดือดร้อนและโกหกว่าเปลืองเงินงบประมาณทำไม เพราะนั่นเป็นเงินของคนไข้ เขาหักจากค่าใช้จ่ายรายหัวมาช่วยกันเอง ส่วน 10 % ที่เป็นงบบริหารนั้น เขาให้หักไม่เกิน 10 % อาจจะ 5 หรือ 7 % ก็ได้ และทำไมแพทยสภาไม่บอกความจริงว่างบบริหารที่สวีเดนเขาใช้มากถึง 15 %

ส่วนที่แพทยสภาห่วงว่าจะมีการโกงกันนั้น จะรอดสายตาพวกหมอไปได้อย่างไร ใครจะกล้า ทั้งหมดล้วนเป็นการโกหกใส่ร้ายเพื่อล้มร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ส่วนที่ว่างบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นไปตามปกติ เหมือนเวลาที่หมอของบประมาน ก็ขอมากขึ้นทุกปี ทุกกระทรวงก็ทำแบบนี้ ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเพราะความผิดปกติของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

ที่ผ่านมาพบว่าแพทย์กินเปอร์เซนต์จากการซื้อยา 15 % มานานทั่วประเทศ โดยอ้างว่าเป็นงบสวัสดิการกินเปล่า 15 % และยังมีการกล่าวหาว่า เวลาซื้อเครื่องมือก็กินกันมูมมาม แต่วันนี้พอจะมี พ.ร.บ.มาช่วยเหลือคนไข้ที่ได้รับความเดือดร้อน แพทยสภากลับเกิดอาการกลัวคอร์รัปชั่น

แพทยสภาควรให้เกียรติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และกฤษฎีกา ที่มีความพยายามจะออกกฎหมายดีๆ เพื่อทั้งแพทย์และคนไข้ ไม่มีใครพยายามเข็นกฎหมายที่มีแต่ข้อเสียดังที่แพทยสภากล่าวหาออกมาให้เสื่อมเสีย ตามที่แพทยสภากล่าวอ้างหรอกครับ”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง