ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กพย. จี้ “รองนายกฯ ยงยุทธ “ เลิกดองร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับปรับปรุง หลังส่งให้ สธ.แก้ไขเนื้อหาเอื้อบริษัทยา ไม่คุ้มครองประชาชน ตามข้อทักท้วง ก.พาณิชย์ ให้ตัด 2 ประเด็น คือ ต้องเปิดเผยโครงสร้งราคายา และกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดราคายา ชี้หากตัดออกจริงจะส่งผลกระทบต่อประชาชน หากไม่ทราบโครงสร้างราคายาก็จะควบคุมราคายาไม่ได้เตรียมยื่นหนังสือ “หมอรัชตะ” ขอความชัดเจน หลังมีการประชุมหารือเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายแต่ไม่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม พร้อมนัดเคลื่อนไหวชูป้ายข้อความ “พ.ร.บ.ยา ไม่ใช่ปลาเค็ม รองฯ ยงยุทธ์ เลิกดองแล้วส่งให้ ครม.พิจารณาได้แล้ว” ผ่านโซเชียลพร้อมกัน 10.00 น. 21 เม.ย. นี้

ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวถึงกรณีที่ทาง กพย.และภาคประชาชน เตรียมทำหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับปรับปรุง ต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับปรับปรุงได้นำเสนอต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเดินหน้าประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ แต่ปรากฎว่านายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้และเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีได้ตีกลับ โดยให้เหตุผลว่ายังมีปัญหาข้อท้วงติงและให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำกลับมาหารือเพื่อหาข้อสรุป และทราบว่าทาง สธ.ได้มีการประชุมโดยเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทาง กพย.และภาคประชาชนกลับไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม และทราบว่าในการประชุมดังกล่าวได้มีการตัดประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทยา

ภญ.นิยดา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้เดิมเป็นร่างของทางกฤษฎีกา แต่เมื่อมีการทักท้วงจากประชาชน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการปรับปรุงและออกเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบทางกฤษฎีกาเองไม่ได้ทักท้วงในเนื้อหา แต่หน่วยงานที่ทักท้วงคือกระทรวงพาณิชย์ โดยขอให้มีการตัดเนื้อหาใน 2 ประเด็น คือ การกำหนดให้บริษัทยาต้องเปิดเผยโครงสร้างราคายาในช่วงขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนยา และการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดราคายา ที่ต้องใช้หลักความคุ้มค่า ความเหมาะสมของสรรพคุณกับราคายาที่อาจเปรียบเทียบกับยาเดิม ซึ่งต้องไม่ควรมีราคาที่แพงจนเกินเหตุอย่างในปัจจุบัน

ทั้งนี้จากเนื้อหาใน 2 ประเด็นข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทำให้บริษัทยาเสียผลประโยชน์เพราะเป็นสิ่งที่กระทบต่อบริษัทยาโดยตรง จึงเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการตัดออก แต่ถ้ามีการตัดออกจริงก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะหากไม่ทราบโครงสร้างราคายาก็จะควบคุมราคายาไม่ได้   

“ราคายาเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำการควบคุม แต่ที่ผ่านมานอกจากกระทรวงพาณิชย์จะไม่สามารถควบคุมราคายาได้แล้ว แต่ยังกลับออกมาคัดค้านการควบคุมราคายาต้นทาง ที่ถูกบรรจุเป็นเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา กพย.และภาคประชาชนจึงเสนอให้นำบทบาทการควบคุมราคายาไปไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแทน” ผู้จัดการ กพย. กล่าวและว่า ทั้งนี้เห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ควรที่จะทบทวนบทบาทตนเองต่อการควบคุมราคายาอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เคยมีการตั้งคณะกรรมการว่าด้วยราคายาเพื่อควบคุม แต่กลับมีการยกเลิกไป ซึ่งหากมีความจริงใจก็ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นใหม่

ภญ.นิยดา กล่าวว่า นอกจากเนื้อหาใน 2 ประเด็นข้างต้นที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ควรตัดออกจากร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับปรับปรุงแล้ว ยังควรที่จะเพิ่มเติมในเรื่องการควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ควรกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมการขายยา และบริษัทยาควรต้องมีการรายงานค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคายาเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้มีการใช้ยาโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังควรให้มีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาสำหรับผู้ที่แพ้ยา ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดผลกระทบให้กับผู้ที่แพ้ยา ซึ่งบริษัทยาควรเข้ามามีส่วนรับผิดชอบโดยเป็นผู้ลงขัน ซึ่งอาจตัดมาจากงบส่งเสริมการขาย อย่างในประเทศญี่ปุ่นก็มีการจัดตั้งกองทุนนี้ และนำเงินส่วนหนึ่งมาใช้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 ประเด็นนี้ถูกบรรจุในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับภาคประชาชน แต่กลับไม่มีการบรรจุในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับปรับปรุงนี้

“จะเห็นได้ว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับปรับปรุง ประเด็นที่ไม่ควรตัดกลับถูกตัด ขณะที่ประเด็นที่ควรใส่กลับไม่มีการบรรจุ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทยา และเรากังวลว่าร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับปรับปรุงซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่คุ้มครองผู้บริโภคจะถูกบีบให้ออกมาโดยเร็ว ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนในฐานะผู้บริโภค ดังนั้น กพย.และภาคประชาชน จึงต้องทำหนังสือเพื่อยื่นต่อ รมว.สาธารณสุข เพื่อทวงถามจุดยืนที่ชัดเจน” ผู้จัดการ กพย. กล่าว และว่า ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้รองนายกฯ และเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เลิกดองร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้เพื่อรอการแก้ไข และให้รีบนำเข้า ครม.พิจารณาโดยเร็ว

ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า สำหรับ พ.ร.บ.ยา ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายฉบับเดิมที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2510 และได้มีการปรับปรุงเนื้อหาเล็กน้อย 2 ครั้ง ซึ่งควรที่จะมีการร่าง พ.ร.บ.ยาขึ้นใหม่ เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าโดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนยาและสถานการณ์ด้านยาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาต่างๆ ทำให้ไม่มีความคืบหน้า แต่ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่จะจัดทำขึ้นล่าสุดนี้จะต้องตอบสนองที่เป็นการคุ้มครองประชาชน ไม่ใช่การเอื้อต่อบริษัทยา หากไม่เช่นนั้น แม้จะมีการออก พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ก็จะไม่มีความหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง กพย. และเครือข่ายภาคประชาชน ได้มีการส่งข้อความทางไลน์ “ร่วมกันส่งเสียง อย่าดอง พ.ร.บ.ยา” โดยมีข้อความระบุให้เห็นถึงจำเป็นต้องมีการออก พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ และชี้ให้เห็นถึงปัญหาร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับปรับปรุงล่าสุด ที่ได้ถูกขบวนการที่นำโดยอุตสาหกรรมยาข้ามชาติและแพทย์พาณิชย์ถ่วงรั้งและพยายามทำลายเนื้อหาด้านการพัฒนาระบบยาและการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมกันนี้ยังได้ขอให้ทุกคนร่วมรณรงค์ส่งเสียงผลักดันร่าง พ.ร.บ.ยา ให้รองนายกรัฐมนตรี นำเข้า ครม.อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ได้เชิญชวนให้ร่วมกันเขียนป้ายข้อความ “พ.ร.บ.ยา ไม่ใช่ปลาเค็ม รองฯ ยงยุทธ์ เลิกดองแล้วส่งให้ ครม.พิจารณาได้แล้ว” และร่วมกันถือภาพพร้อมถ่ายภาพ ขึ้นช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook, Instragram และ Twitter etc. โดยให้ขึ้นภาพพร้อมกันในเวลา 10.00 น.ของวันอังคารที่ 21 เมษายน เป็นต้นไป