ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ปมปฏิรูปสาธารณสุข เน้นพัฒนาปฐมภูมิ เชื่อมต่อชุมชน ลดเหลื่อมล้ำประกันสุขภาพ ปฏิรูประบบประกันสุขภาพให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ด้าน สปช.อภิปราย ให้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และรับรองสถานะคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติกว่า 3 ล้านคนในไทย พร้อมเพิ่มสิทธิพลเมือง ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขจากรัฐเท่าเทียม ทั่วถึง มีมาตรฐาน หากได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขของรัฐจะได้รับการชดเชย

20 เม.ย.58 ที่ห้องประชุมอาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนคือร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้นำเสนอหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละส่วน ในส่วนการปฏิรูปสาธารณสุขนั้น นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้นำเสนอ โดยมีสาระสำคัญ เช่น การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มุ่งไปที่ระบบบริการที่เชื่อมต่อกับชุมชน เช่น รพ.ชุมชน รพ.อำเภอ สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) และผู้นำจิตอาสา ฯลฯ รวมถึงพัฒนาระบบประกันสุขภาพที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ จะต้องปฏิรูปการประกันสุขภาพที่ได้รับมาตรฐานใกล้เคียงกัน

ขณะที่ นางพันธุ์ทิพย์ สายสุนทร สมาชิก สปช. อภิปรายว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญต้องตอบโจทย์คนในประเทศ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ได้รองรับสิทธิของบุคคลที่มีสัญชาติไทยที่ชัดเจน อาทิ ชาวมอร์แกน ดังนั้น ควรมีกฎหมายกำหนดการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน การรับรองสถานะสำหรับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่มีอยู่กว่า 3 ล้านคนในขณะนี้ เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ด้วย

นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข อภิปรายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิด้านสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุมตามหลักสากล โดยเฉพาะมาตรา 58 ที่กำหนดให้พลเมืองได้รับบริหารสาธารณสุขทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปฏิรูป เนื่องจากเป็นการขยายขอบเขตให้ประชาชนได้รับสิทธิเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน

นายปกรณ์ ปรียากรณ์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวชี้แจงถึงภาคสิทธิพลเมืองที่เสริมสร้างให้ประชาชนเป็นใหญ่ ในหมวดที่ 2 ประชาชน ส่วนที่หนึ่งความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง ที่กำหนดให้ประชาชนชาวไทยมีฐานะเป็นพลเมือง และมีหน้าที่ในการปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้พลเมืองไปทำหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติได้ โดยคุ้มครองสิทธิ์ตั้งแต่ทารกในครรภ์ พลเมืองเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจากรัฐโดยเท่าเทียม ทั่วถึง มีมาตรฐาน ในกรณีทีได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขของรัฐจะได้รับการชดเชยความเสียหาย ส่วนด้านการศึกษาที่ให้เด็ก เยาวชน เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และขยายการศึกษาโดยการสนับสนุนของรัฐทั้งสายสามัญและสายอาชีพ จาก 12 ปี เป็น 15 ปี

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนพลเมืองวัยทำงานให้คุ้มครองเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้รับค่าจ้างเป็นธรรม มีสวัสดิการและหลักประกันตามที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญห้ามไม่ให้รัฐเนรเทศบุคคลที่มีสัญชาติไทย สำหรับสิทธิชุมชนถือเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ให้สิทธิพลเมืองในชุมชนปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ทั้งยังสามารถตรวจสอบและรับทราบการดำเนินการของรัฐที่มีผลกระทบต่อพลเมืองและชุมชนนั้นด้วย