ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ วอน ปชช.ร่วมลงชื่อเสนอตั้ง คกก.คุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน ครบ 10,000 รายชื่อ เผยความคืบหน้ารวบรวมได้แล้วกว่า 9.3 พันคน พร้อมแจงการผลักดัน เหตุได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติจำนวนมาก จากปัญหาค่ารักษาที่แพงมาก ไม่มีเงินจ่าย ต้องกู้หนี้ และถูกฟ้อง เสนอรัฐบาลยุตินโยบายรักษาฉุกเฉินชั่วคราว เหตุเป็นนโยบายเป็นนโยบายแมงเม่าทำปัญหาเพิ่ม 

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

27 เม.ย.58 นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีการรณรงค์ร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ ผ่านทาง www.change.org (ร่วมลงชื่อ ที่นี่) เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ว่า จากที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ก่อตั้งมา 13 ปี เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามานอกจากเรื่องความเสียหายทางการแพทย์แล้ว กรณีการถูกคิดราคาค่ารักษาพยาบาลที่สูงและแพงจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามาก ซึ่งประเทศไทยไม่มีหน่วยงานไหนทำหน้าที่ควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนโดยตรง มีเพียง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้โรงพยาบาลต้องแจ้งราคาค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ รพ.เอกชนก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง และมักมีราคาค่ารักษาที่แทรกเข้ามาเสมอ ซึ่งทำให้ประชาชนต้องจ่ายตามราคาที่ถูกเรียกเก็บ

ทั้งนี้ภายหลังจากปี 2555 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายสิทธิรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่ทุกสิทธิสามารถเข้ารักษาได้ยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึง รพ.เอกชน ปรากฎว่าได้มีผู้ป่วยและญาติจำนวนมากที่ต้องเดือดร้อนกับค่ารักษาที่ถูกจัดเก็บจาก รพ.เอกชน จำนวนหลักแสนถึงหลักล้านบาท ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้เคยนำผู้ป่วยที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร้องเรียนต่อรัฐบาลมาแล้ว เพราะทำให้หลายคนถูกฟ้องร้องจาก รพ.เอกชนเพราะไม่มีเงินจ่าย และเมื่อไกล่เกลี่ยในชั้นศาลหลายรายต้องยอมรับสภาพหนี้สิน หรือต้องนำทรัพย์สิน บ้าน ที่ดิน มาจำหน่ายเพื่อชดใช้หักหนี้สิน และจากที่ได้เดินทางไปศาลพร้อมกับผู้ป่วยที่ได้รับความเดือนร้อนจากเรื่องนี้ ยังทำให้ทราบว่ามีผู้ป่วยและญาติอีกจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหานี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามายาวนาน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเองก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ แม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็พยายามประสานพูดคุยกับ รพ.เอกชน ในการเข้าร่วมโครงการและจัดเก็บตามราคากลาง แต่ก็ไม่สำเร็จ  

“ในฐานะประชาชนที่รับเรื่องร้องเรียนจึงคิดว่า ทำไมเราไม่ทำอะไรสักอย่าง จึงคิดว่าควรรวบรวมรายชื่อคนที่ประสบปัญหานี้มาสนับสนุนเพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา อย่างน้อยก็ปรับแก้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล เพื่อให้สามารถควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน เพื่อให้เป็นธรรมได้ ทั้งนี้ต้องบอกว่า เราไม่ได้ต่อต้านธุรกิจ รพ.เอกชน เพราะในระบบต้องมีเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ล้นจาก รพ.ภาครัฐ แต่ในการทำธุรกิจด้านรักษาพยาบาลก็ควรมีธรรมาภิบาล โปรงใส และตรวจสอบได้ หากประชาชนผู้รับบริการรู้สึกว่าถูกจัดเก็บในราคาที่สูงเกินจริง โดยมีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้โดยตรง ซึ่ง รพ.เอกชนที่ดีก็ควรสนับสนุนเรื่องนี้ ไม่ควรต่อต้าน และควรมีการตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ทางการแพทย์และค่ารักษาเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าว   

ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการกำหนดราคากลางในการเข้ารักษาพยาบาลเพื่อควบคุมราคานั้น นางปรียนันท์ กล่าวว่า ราคากลางในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลควรมีมานานแล้ว และต้องเป็นบทบาทของแพทยสภา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยทำ ไม่ทราบว่าเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ รพ.เอกชนหรือไม่ ทั้งนี้ราคาค่ารักษาพยาบาลที่ถูกจัดเก็บจะเกินจริงหรือไม่นั้น แต่ในส่วนของประชาชนคิดว่าเกินจริง จึงควรมีหน่วยงานหรือคณะกรรมการเข้ามาตรววจสอบตรงนี้ เพื่อดูว่าที่ถูกคิดค่ารักษานั้นสมเหตุสมผลหรือไม่   

สำหรับนโยบายรักษาฉุกเฉินนั้น นางปรียนันท์ กล่าวว่า รัฐบาลเองต้องยอมรับว่ามีปัญหา โดยเฉพาะระบบที่ไม่รองรับ เนื่องจากในการเข้ารับบริการตามนโยบายนั้น ภาครัฐจะดูแลและรับผิดชอบเพียงแค่ 72 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการย้ายผู้ป่วยตามสิทธิ โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยใน รพ.รัฐที่เต็ม ทำให้ไม่สามารถย้ายผู้ป่วยได้ ดังนั้นภาระค่ารักษาพยาบาลที่สูงมากจึงตกกับประชาชน ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้เคยเสนอให้ยุตินโยบายนี้เป็นการชั่วคราวไปก่อน เพราะสร้างปัญหาให้กับประชาชนอย่างมาก เพราะคิดว่าเป็นการรักษาฟรี แม้แต่ใน รพ.เอกชน แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงกลายเป็นนโยบายที่เอื้อต่อ รพ.เอกชน ที่ล่อแมงเม่าที่เป็นประชาชนให้บินเข้ากองไฟ ต้องยอมรับสภาพหนี้จนเดือดร้อน นอกจากนี้เท่าที่ติดตาม เห็นว่ามีการเปลี่ยนการรณรงค์จากเดิมที่ใช้คำว่า “ฉุกเฉินทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์” ได้เปลี่ยนเป็น “ฉุกเฉินทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” แล้ว ซึ่งหากไม่ฟรีต้องประกาศให้ประชาชนรับทราบด้วย  

“ไม่มีปัญญาจ่าย ต้องเซ็นรับสภาพหนี้ เราสู้ราคาที่ต่อรองไม่ได้ ทุกราคาในบิลตรวจสอบไม่ได้ และไม่มีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบราคารักษาพยาบาลตรงนี้ และพออยากย้าย รพ.ก็เตียงเต็มทุกที่ ต้องถามว่าคนไข้และญาติมีเงินเก็บเท่าไหร่ พร้อมยอมรับสภาพหนี้หรือไม่ และต้องถูกฟ้องเรียกค่ารักษา ทุกอย่างเป็นความจริงจากประสบการณจริง” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าว และว่า ไม่แต่เฉพาะการรับบริการฉุกเฉินเท่านั้น แต่การรักษาโรคทั่วไป พบว่าก็มีการเก็บค่ารักษาแพงมาก ซึ่งที่ผ่านมา รพ.เอกชนมักมีข้ออ้างของเหตุต้องเก็บค่ารักษาแพงเสมอ

นางปรียนันท์ กล่าวว่า การรณรงค์เพื่อให้ประชาชนร่วมลงชื่อครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อให้มีการควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชนนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 9,300 คน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่เคยประสบปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนออกมาร่วมลงชื่อกัน เพราะขณะนี้เรากำลังสู้กับธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างน้อยก็เพื่อลูกหลาน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการไล่บี้ รพ.เอกชน แต่เป็นการทำเพื่อให้เกิดระบบที่ดี และอยากให้ รพ.เอกชน โดยเฉพาะสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาสนับสนุน ทั้งนี้หากรวบรวมครบ จะยื่นรายชื่อให้กับ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อผลักดันให้เกิดการคุ้มครองประชาชนต่อไป