ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานชุด : ย้อนรอย 5 ปี กองทุนคืนสิทธิคนไร้สถานะ กองทุนของพลเมืองชั้น 2 ?

ขณะที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากความสำเร็จที่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างเสมอหน้าภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2545 ซึ่งไม่เพียงทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังทำให้ไทยถูกยกเป็นต้นแบบประเทศกำลังพัฒนาที่ทำเรื่องนี้จนสำเร็จและมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีจากตัวชี้วัดด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสุขภาพของไทยก็มีความแตกต่าง หลากหลาย เหลื่อมล้ำ ซ้อนทับกันอยู่ ไม่เฉพาะแต่ 3 กองทุนสุขภาพใหญ่ๆ อย่าง กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ที่หลากหลาย ไม่เท่าเทียม และนำไปสู่ข้อเสนอให้สร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้สำเร็จนั้น

ยังมีกองทุนประกันสุขภาพขนาดเล็กสำหรับกลุ่มประชากรที่อาจจะถูกเรียกได้ว่าเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศนี้ก็ได้ นั่นคือ “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53” ที่คล้ายเป็นกองทุนรักษาพยาบาลเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังรอการพิสูจน์สิทธิอยู่ ปัจจุบันดูแลประชากรประมาณ 4.5 แสนคน และขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ ครม.ชุดใหญ่อนุมัติเพิ่มกลุ่มคนรอการพิสูจน์สถานะและสิทธิที่ตกค้างอีกกว่า 2 แสนคนให้ได้รับสิทธินี้ หลังจากที่ ครม.เศรษฐกิจอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา

เป้าหมายแท้จริงของกองทุนนี้คือ ระหว่างที่ประชาชนกลุ่มนี้รอพิสูจน์สิทธิ์ เพื่อให้ได้รับสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขตามที่ไทยให้การรับรองไว้กับประชาคมโลก ก็ควรให้พวกเขาได้รับสิทธิรักษาพยาบาลด้วย เมื่อผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ได้สัญชาติไทยแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปใช้สิทธิประกันสุขภาพสำหรับคนไทยตามสถานะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น สิทธิ 30 บาท

ในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 นี้ สำนักข่าว Health Focus จึงชวนสำรวจสถานการณ์การให้บริการสุขภาพสำหรับประชาชนกลุ่มนี้ว่าเป็นอย่างไร โรงพยาบาลหลายแห่งที่เคยต้องแบกรับภาระด้วยหลักมนุษยธรรม ในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และจริงหรือไม่ที่ว่า กองทุนคืนสิทธิ์นี้ แม้จะมีสิทธิรักษาพยาบาลก็จริง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างก็ทำให้สิทธิที่พวกเขาได้เป็นแค่สิทธิของพลเมืองชั้น 2 เท่านั้น รวมทั้งช่วยกันคิดเกี่ยวกับอนาคตของกองทุนนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่ควรจะเป็นของระบบสุขภาพไทย โดยจัดทำเป็น รายงานชุด : ย้อนรอย 5 ปี กองทุนคืนสิทธิคนไร้สถานะ กองทุนของพลเมืองชั้น 2 ?

ตอนที่ 1 ‘วิวัฒน์ ตามี่’ แม้มีสิทธิรักษา แต่เป็นได้แค่พลเมืองชั้น 2 ในแผ่นดินเกิด

ตอนที่ 2 ‘ผอ.รพ.ทองผาภูมิ’ ชี้ 5 ปีกองทุนคืนสิทธิฯ ลดภาระ รพ. แต่เบิกจ่ายยุ่งยาก สิทธิไม่เท่าเทียมบัตรทอง

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 3 ผอ.รพ.ปายชี้กองทุนคืนสิทธิอุดช่องโหว่งบรายหัวไม่พอรายจ่าย

พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู 

ผอ.รพ.ปายชี้ 5 ปีกองทุนคืนสิทธิ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องโรงพยาบาล และทำให้การส่งต่อผู้ป่วยในกลุ่มคนไร้สถานะง่ายขึ้น แนะเพิ่มการประชาสัมพันธ์กลุ่มเป้าหมายให้รู้สิทธิและเปิดให้ขึ้นทะเบียนข้ามเขตได้ แจง แม่ฮ่องสอนมีกลุ่มคนไร้สถานะประมาณ 20,000 คน มากสุดอยู่ใน อ.เมือง ได้งบทั้งจังหวัดประมาณ 30 ล้านบาท กันไว้เป็นงบสำหรับ refer 6 ล้าน ที่เหลือก็จ่ายตรงไปที่โรงพยาบาล ทั้ง OP และ IP 

พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีกองทุนให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือ กองทุนคืนสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มี.ค.2553 จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 5 ปีแล้ว พบว่าการมีกองทุนดังกล่าวทำให้สภาพคล่องของโรงพยาบาลดีขึ้น

พญ.วลัยรัตน์ กล่าวว่า แต่เดิมโรงพยาบาลต้องรักษาฟรี โดยเจียดงบประมาณที่ได้จากระบบหลักประกันสุขภาพ (UC) และประกันสังคมมาช่วยดูแลคนกลุ่มนี้ ซึ่งปัญหาคือโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน รายได้ส่วนใหญ่มาจากงบเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่เนื่องจากในพื้นที่มีประชากร UC น้อย ทำให้ได้งบเหมาจ่ายรายหัวน้อยตามไปด้วย การได้งบประมาณจากกองทุนคืนสิทธิมาเพิ่ม จึงช่วยเพิ่มสภาพคล่อง นำมาจ่ายค่ายาและค่าเวชภัณฑ์สำหรับให้บริการกลุ่มคนไร้สถานะ ซึ่งหากไม่มีเงินก้อนนี้ ทางโรงพยาบาลจะติดลบมากขึ้น

“แม่ฮ่องสอนมีกลุ่มคนไร้สถานะประมาณ 20,000 คน มากที่สุดก็อยู่ใน อ.เมือง ซึ่งก็ได้งบมาทั้งจังหวัดประมาณ 30 ล้านบาท ขั้นตอนการเบิกจ่ายก็ไม่ยุ่งยาก เพราะกันไว้เป็นงบสำหรับ refer 6 ล้าน ที่เหลือก็จ่ายตรงไปที่โรงพยาบาลเลยทั้ง OP และ IP ให้มาทั้งก้อนเลย”พญ.วลัยรัตน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน งบประมาณจากกองทุนคืนสิทธิ ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยทำได้สะดวกขึ้น เพราะในอดีต กรณีที่ต้องส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อในโรงพยาบาลอื่น ก็ต้องจ่ายค่ารักษาเอง บางครั้งก็ต้องขอให้โรงพยาบาลปลายทางช่วยอนุเคราะห์ค่ารักษาให้ แต่เมื่อมีเงินจากกองทุนคืนสิทธิมาช่วยสนับสนุน ก็ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับการส่งตัวและเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในทางปฏิบัติที่พบคือประเด็นการรับรู้สิทธิ แม้ทางกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล และองค์กรพัฒนาเอกชนจะพยายามโปรโมทให้รับรู้สิทธิ แต่ยังมีกลุ่มคนที่ออกจากพื้นที่ ทั้งแบบถูกและผิดกฎหมาย และไม่ได้มาขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาล ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิรักษาพยาบาล

“ในพื้นที่กว่า 80% มาขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ก็ยังมีบางคนที่ออกไปทำงานนอกพื้นที่ ซึ่งทางโรงพยาบาลก็พยายามไปตามมาขึ้นทะเบียน ซึ่งก็ตามได้บ้างบางส่วน”พญ.วลัยรัตน์ กล่าว

พญ.วลัยรัตน์  กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน อยากเสนอให้มีการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบสิทธิของตัวเองให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งอยากเสนอให้มีการผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนข้ามเขตเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการได้มากกว่านี้ ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น หากเพิ่มขึ้นได้ก็จะดี เพราะนอกจากกลุ่มคนไร้สถานะแล้ว ในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลยังมีอีกกลุ่มที่ต้องรับภาระ คือ กลุ่มคนต่างด้าวที่ควรจะเก็บเงินได้แต่ก็เก็บไม่ได้ ทำให้เกิดการสูญเสียประมาณปีละ 10 ล้านบาท ทำให้ต้องเจียดงบประมาณจากส่วนอื่นๆ มาให้บริการคนกลุ่มนี้

“เราเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่แบบนี้ ก็ต้องให้บริการทุกคน ทั้งที่มีสิทธิและไม่มีก็ตาม”พญ.วลัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ตอนต่อไป ติดตามตอนจบ สธ.พร้อมให้บริการคนไร้รัฐเพิ่มอีก 2 แสนคนใน 1 เดือน ยันสิทธิเท่าเทียม