ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปฏิรูป” ได้กำหนดเรื่องสมัชชาพลเมือง ไว้ในภาคที่ 5 เรื่องการกระจายอำนาจและบริหารท้องถิ่น ข้อที่ 11 เพื่อติดตามตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้บริการท้องถิ่น ซึ่งย่อมมีเรื่องการจัดการระบบสุขภาพร่วมอยู่ด้วย ทั้งนี้ปัจจุบัน ท้องถิ่นมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือกองทุนสุขภาพตำบล ที่ดำเนินการร่วมกัน ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล-อบต.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ที่เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว มาหนุนเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่ตื่นรู้ (active citizen) ที่เปรียบเสมือนทัพหน้าของการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพจากรากฐานในระดับท้องถิ่นขึ้นมา โดยการมีส่วนร่วมได้ 3 บทบาท ดังนี้

1.การพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค โดยการร่วมระดมความคิด ทรัพยากรจากภายนอก และทุนทางสังคมภายในท้องถิ่นเอง สร้างการมีส่วนร่วมให้บรรลุเป้าหมายที่แท้จริงของการจัดการสุขภาพโดยพลเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งกองทุนสุขภาพตำบลต้องเป็นของพลเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่ของนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเป็นของ รพ.สต. เช่นการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง สามารถปรับรูปแบบตามบริบท ในบางท้องถิ่นอาจต้องมีระบบการจ้างผู้ดูแล แต่ในบางแห่งอาจใช้ระบบเครือญาติ และอาสาสมัคร ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบที่เหมือนกันหมด การจัดการขยะในบางพื้นที่อาจนำไปทำปุ๋ย บางพื้นที่อาจใช้ในการทำเชื้อเพลิงแบบชีวมวล การป้องกันโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) ที่นอกจากการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย รักษา ให้สุขศึกษาอย่างที่ทำกันเป็นประจำ ก็ควรเพิ่มการควบคุมวิถีชีวิตจากกระบวนการกลุ่ม หรือวิถีชาวบ้าน และสื่อสารด้วยวิธีการที่เหมาะสมตรงกับจริตของสมาชิกของชุมชนนั้น อาทิเช่น การพัฒนาความมั่นคงทางอาหารในชุมชน การสร้างมาตรการของชุมชนต่อผู้ขายอาหารในชุมชน และสถานศึกษา การสร้างพลังกลุ่มในการควบคุมน้ำหนัก การเลือกรัปประทานอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น

2.การประเมินผลงานการจัดบริการสุขภาพในระดับต่างๆ ทั้งการบริการปฐมภูมิ ทุตยภูมิ ตติยภูมิ และระบบการส่งต่อที่ให้สมัชชาพลเมืองเข้ามาร่วมประเมินผลที่ปลายน้ำจริงๆ ว่างบประมาณ ทรัพยากรต่างๆ ที่ใช้ไปนั้นได้เกิดการจัดบริการที่สนองตอบต่อความจำเป็นด้านสุขภาพของพี่น้องพลเมืองเจ้าของภาษีได้มากน้อยเพียงใด หรือเรียกได้ว่าเป็น Citizen Audit เพื่อเป็นข้อมูลสะท้อนกลับในนำมาใช้วางแผนพัฒนา และประกอบการจัดสรรงบตามเกณฑ์คุณภาพ และผลลัพธ์(Quality and Outcomes Framework: QOF) ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ หรือปรับลดการจัดส่งข้อมูลที่มีอยู่เดิม ร่วมไปถึงเป็นแหล่งข้อมูลในการประเมินผลผ่านการสำรวจขององค์กที่จัดการรประเมินผลที่เป็นกลาง (Third-party survey)   

3.การร่วมพิจารณานโยบายสาธารณะ หรือโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อผลกระทบด้านสุขภาพ ในเชิงกายภาพ เช่นการก่อตั้งโรงงาน เหมืองแร่ การสร้างเขื่อน การตัดถนนในพื้นที่ การปรับปรุงสถานที่ต่างๆ ให้เหมาะสม สะดวกต่อผู้พิการ เป็นต้น หรือในเชิงสังคม เช่น การงดดื่มสุราในงานประเพณีต่างๆ การอนุรักษ์พลังงาน การไม่กระทำรุนแรงในครอบครัว การดูแล และกตัญญูต่อผู้สูงอายุ เป็นต้น

ดังนั้นในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการปฏิรูป ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่จึงควรเชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบสุขภาพไทย ตามบทบาทหลัก 3 ด้าน ให้หลุดพ้นจากการถูกคุกคามจากทุนข้ามชาติ และการรวมศูนย์อำนาจ ที่มีการจัดการ และแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ขาดประสิทธิภาพไม่เหมาะสม ขาดการเข้าถึง เข้าใจกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น และทำให้ภาคพลเมืองอ่อนแอ ขาดการมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของในการจัดการสุขภาพ ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ

แหล่งข้อมูล

สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป

http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/download/article/article_20150417074906.pdf

กองทุนประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ http://obt.nhso.go.th/obt/home