ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขจัดประชุมเครือข่ายสุขภาพอำเภอ วาง 4 ยุทธศาสตร์ผลักดันนโยบายสำคัญของรัฐบาลเรื่องหมอครอบครัวไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมและเครือข่าย เชื่อมโยงกับสถานบริการกับบ้านประชาชน ลดทุกข์ เพิ่มสุข และคุณภาพชีวิตแก่ญาติและผู้ป่วย 3 กลุ่มที่ต้องดูแลในชุมชน ได้แก่ผู้สูงอายุติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้พิการ ประมาณ 2 ล้านคนทั่วประเทศ     

วันนี้ (22 พฤษภาคม 2558) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมสาธารณสุขอำเภอทั่วประเทศ ชมรมหมออนามัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมประมาณ 1,000 คน เรื่องบทบาทของเครือข่ายสุขภาพอำเภอ (District Health System: DHS) กับการขับเคลื่อนทีมหมอครอบครัวสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อผลักดันนโยบายสำคัญของรัฐบาลเรื่องหมอครอบครัวไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน โดยผ่านกลไกเครือข่ายสุขภาพอำเภอ สาธารณสุขอำเภอและเขตสุขภาพ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายหมอครอบครัว เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบสุขภาพไทย  ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ในสถานบริการทุกระดับเป็นทีมงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กับชาวบ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้าน มีที่พึ่งเมื่อเจ็บป่วยหรือมีปัญหา ฝากผีฝากไข้กับทีมหมอครอบครัว และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในสถานบริการทุกระดับเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นด่านหน้าสำคัญในการขับเคลื่อนงาน        

จากการดำเนินงานของทีมหมอครอบครัวที่เริ่มตั้งแต่ มกราคม 2558 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ทั่วประเทศมีทีมหมอครอบครัวทั้งหมด 66,353 ทีม โดยแบ่งเป็นทีมอำเภอ 3,890 ทีม ทีมตำบล 12,237 ทีม และทีมชุมชน 50,326 ทีม ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่าแต่ละครอบครัวมีหมอประจำ ในปี 2558 นี้ เริ่มที่ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียง คนพิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายชีวิต รวมประมาณ 2 ล้านคน เพื่อลดทุกข์ เพิ่มสุขให้ผู้ป่วยและญาติมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ในช่วง 6 เดือนแรกดูแลครอบคลุมไปแล้ว 1 ใน 4 และในระยะ 6 เดือนหลังตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2558 คนไทยทุกคนจะต้องมีทีมหมอครอบครัวประจำตัวทุกครัวเรือน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วาง 4 ยุทธศาสตร์ เพื่อให้การดำเนินงานทีมหมอครอบครัวบรรลุผลสำเร็จ  ได้แก่ 1.การบริหารนโยบายอย่างมีส่วนร่วม เน้นการสื่อสารนโยบายแนวคิด สร้างความเข้าใจบุคคลากรแกนนำหมอครอบครัวสถานบริการทุกระดับแทนการสั่งการ เป็นการสร้างผู้นำสุขภาพแนวใหม่ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการจัดกลไกบริหารในระดับอำเภอ ประสานการมีส่วนร่วมระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดระบบการให้คำปรึกษาระหว่างทีมหมอครอบครัว และทีมสหวิชาชีพ การจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยกรณีจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล จัดเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วย ระหว่างทีมสหวิชาชีพกับทีมหมอครอบครัว และระหว่างหน่วยบริการ 2.พัฒนาความรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมรวมทั้งกระตุ้นให้เกิด นวัตกรรมในพื้นที่  โดยจัดสรรงบประมาณอบรมเขตละ 1 ล้านบาท 

3.พัฒนาศักยภาพ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ และสื่อสารให้ประชาชนมีความเข้าใจ เกี่ยวกับทีมหมอครอบครัว และจัดให้มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนและทีมหมอครอบครัว อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.มีการติดตามประเมินผลเน้นการเรียนรู้ไม่เน้นรายงาน ใช้การสำรวจประเมินทั้งภายในและภายนอก ให้ผู้บริหารแต่ละระดับทราบ โดยจะจัดเวทีประชุมวิชาการเพื่อให้หมอครอบครัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันที่ 3-4 สิงหาคม 2558