ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรัชตะ” ร่วมหารือแผนสร้างความครอบคลุมการได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐาน ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 68 เผย ผอ.องค์การอนามัยโลกให้ความชื่นชมไทยที่สามารถให้วัคซีนป้องกันโรคแก่ประชาชนเกินกว่า 95% ทั้งยังผลิตวัคซีนได้เอง สะท้อนถึงประสิทธิภาพและความคุ้มทุนของการใช้วัคซีนป้องกันโรค เผยไทยตั้งเป้าขยายให้วัคซีนกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันโรค

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์จากนครเจนีวา ประเทศสมาพันธ์สวิสเมื่อเช้าวันนี้ (22 พฤษภาคม 2558) ว่า ในการร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 68 ประจำปี2558 ไทย ได้ร่วมกับสหรัฐอเมริกา และคองโก จัดประชุมคู่ขนาน ในหัวข้อ การบรรลุเป้าหมายระดับโลกในแผนการสร้างความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนพื้นฐาน (Achieving the Global Vaccine Action Plan Objective for Routine Coverage : What can be done to get back on track?) โดยตนได้อภิปรายร่วมกับผู้อภิปรายอีก 2 ท่าน คือ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และ Dr.Jean-Marie Okwo-Bele ผู้อำนวยการฝ่ายวัคซีนและชีววิทยา องค์การอนามัยโลก (Director of the WHO Department of Immunization, Vaccines and Biologicals)

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เปิดประเด็นถึงอุปสรรคที่ทำให้ 194 ประเทศไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ต้องการให้มีความครอบคลุมเกินกว่าร้อยละ 90 โดยระบุว่าจากเหตุการณ์การระบาดของโรคหัดถือเป็นเครื่องบ่งชี้ความไม่ครอบคลุมของวัคซีนได้ ซึ่งปัญหามีทั้งการให้วัคซีนไม่ครอบคลุม และในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วก็ได้รับไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถป้องกันโรคได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่าต้องสนับสนุนให้แต่ละประเทศขยายความครอบคลุมการให้วัคซีนแก่ประชากรของประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโปลิโอที่เด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีนนี้ ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องส่งเสริมศักยภาพของสถานพยาบาลท้องถิ่นให้สามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และการฉีดวัคซีนต้องเป็นกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรคที่ต้องถือเป็นงานประจำของสถานพยาบาลท้องถิ่นนั้น จึงจะสามารถบรรลุผลเป้าหมายได้

ศ.นพ รัชตะ กล่าวต่อว่า ในส่วนของไทยนั้น พญ.ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวชื่นชมว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการให้วัคซีนพื้นฐานแก่ประชาชน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไทยสามารถดำเนินการให้มีการผลิตวัคซีนได้ด้วยตนเอง ที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความคุ้มทุนของการใช้วัคซีนป้องกันโรค ซึ่งสามารถลดการติดเชื้อในประชาชนได้ โดยมีอัตราการได้รับวัคซีนครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 95 อย่างไรก็ตาม ตนได้นำเสนอว่า ไทยยังมีความพยายามแก้ปัญหาในกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานหรือได้ไม่ครบ เนื่องจากเป็นผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มที่ย้ายถิ่นอาศัย ดังนั้นขณะนี้จึงได้พัฒนาระบบการให้บริการวัคซีนขั้นพื้นฐานในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ และการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของสถานพยาบาลท้องถิ่นในการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการ เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มผู้ทำงานก่อสร้าง และกำหนดรูปแบบบริการพิเศษสำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบให้ได้รับบริการด้านวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ ซึ่งในส่วนนี้องค์การอนามัยโลกจะสนับสนุนในด้านวิชาการเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้วัคซีนขั้นพื้นฐานให้บรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้