ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือกรมอนามัย เดินหน้านโยบาย 10 ข้อ รมต.สธ.ลดปัญหาแม่วัยรุ่นและการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางเลือกคุมกำเนิด ด้วยวิธียาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัย ในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ทุกสิทธิ์สุขภาพ ฟรี เริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 ที่ผ่านมาแล้ว ติดต่อได้ที่ รพ.รัฐทุกแห่ง และ รพ.เอกชนที่เข้าร่วมระบบ 30 บาท

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ของประเทศไทยมีประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลและกำลังแก้ไขปัญหา คือ ปัญหาแม่วัยรุ่นกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการคลอดของวัยรุ่นได้เพิ่มขึ้น โดยอัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี เพิ่มจาก 49.3 ใน พ.ศ. 2548 เป็น 53.8 ต่อหญิง 15 – 19 ปี จำนวนพันคน ใน พ.ศ. 2555 และพบว่าจำนวนการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี เฉลี่ยต่อวัน เพิ่มสูงขึ้นจาก 240 คน ในปี 2543 เพิ่มเป็น 365 คน ในปี 2555 และยังพบว่าในปี 2556 จำนวนการตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุ 10 – 19 ปี ที่คลอดบุตร มีจำนวน 15,295 คน จากจำนวนการคลอดทั้งหมด 125,371 คน คิดเป็นร้อยละ 12.1 และในจำนวนนี้ยังมี 880 คนที่คลอดลูกซ้ำเป็นท้องที่ 3 ด้วย

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า เมื่อวัยรุ่นตั้งครรภ์และคลอดบุตร จะมีผลกระทบทั้งด้านสุขภาพต่อมารดาและทารกในครรภ์ เกิดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนจากการแท้ง และเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ สูงกว่าการตั้งครรภ์ทั่วไป ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของแม่และเด็ก นำไปสู่ปัญหาสังคม เศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวมได้ กรมอนามัยจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์การอนามัยเจริญพันธุ์ด้วยบริการยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัย เพื่อลดปัญหาแม่วัยรุ่นและการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการแก้ไขปัญหาแม่วัยรุ่นกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมนั้น เป็น 1 ในนโยบาย 10 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยตลอดช่วงชีวิต โดยมีการระบุถึงการลดอัตราการตั้งครรภ์และท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น สปสช.จึงได้ร่วมกับสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ได้จัดทำโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยจะให้บริการยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่อยู่ในภาวะหลังคลอด หรือแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด ในทุกสิทธิสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกโรค) สิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย เริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาแล้ว สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วน สปสช. โทร.1330 ซึ่งการใช้วิธีคุมกำเนิดด้วย ห่วงอนามัย และยาฝังคุมกำเนิด นั้น มีระยะเวลาการคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี และ 5 ปี และจะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาแม่วัยรุ่นและป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในครั้งที่ 2 ได้

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าว นับเป็นการปรับปรุงการให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โดยยึดหลักความต้องการของผู้ให้บริการ เช่น การมีทางเลือกบริการคุมกำเนิดที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มวัย ในกรณีนี้ คือการให้บริการคุมกำเนิดด้วย ห่วงอนามัย และยาฝังคุมกำเนิด เป็นอีกทางเลือกเพิ่มจากถุงยางอนามัย นอกจากนั้นยังมีบริการให้ความรู้ด้านเพศศึกษา การวางแผนครอบครัว การให้คำปรึกษาโดยเน้นการปกปิดความลับของเด็ก เป็นต้น