ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขต้อนรับทีมแพทย์ไทยชุดที่ 3 เดินทางกลับจากช่วยผู้ประสบภัยที่ประเทศเนปาล เผยผลการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ไทยทั้ง 3 ชุด ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ช่วยรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยแล้วกว่า 3,300 ราย ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมเร่งช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเนปาล ฟื้นฟูสถานบริการสาธารณสุข ให้กลับมาให้บริการได้ตามปกติ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรมัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับทีมแพทย์รัฐบาลไทยชุดที่ 3 จำนวน 18 คน เดินทางกลับไทยหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ดูแลช่วยผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว ที่ ต.ชาดานี ที่โรงเรียนชานดานี (Chandani)อ.เคบีพาลันโชค(kebhrepalanchok) ประเทศเนปาล โดยปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 10-23 พฤษภาคม 2558 รวม 13 วัน โดยมี นพ.เกรียงศักดิ์ ธนอัศวนันท์ เป็นหัวหน้าชุด และ นพ.ชูชาติ นิจวัฒนา เป็นรองหัวหน้าชุด

“ทีมแพทย์ชุดนี้เป็นทีมที่ 3 ที่ไปช่วยผู้ประสบภัยชาวเนปาล ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ได้เน้นการรักษาพยาบาลมากนัก เน้นการฟื้นฟูป้องกันโรค และงานด้านสาธารณสุขชุมชน เนื่องจากสถานีอนามัยที่นั้น เสียหาย ให้บริการไม่ได้ นอกจากนี้ยังทำงานเชิงรุกในการคัดกรองด้านสุขภาพจิต โดยประเทศอื่นที่เดินทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่มีทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูเหมือนประเทศไทย ซึ่งได้รับการชื่นชมจากรัฐบาลและประชาชนชาวเนปาลเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข จะส่งทีมแพทย์ชุดที่ 4 เดินทางไปประเทศเนปาลในวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคมนี้ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูร่วมทีม ตามความต้องการของประเทศเนปาล” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดส่งทีมแพทย์ฉุกเฉิน ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ประเทศเนปาล ตั้งแต่ 29 เมษายน 2558 เป็นต้นมา โดยมีจุดประสงค์ในการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ บริการด้านการแพทย์ บริการสาธารณสุขเชิงรุกในชุมชน การสร้างระบบสุขภาพชุมชนเชื่อมกับระบบบริการปกติของพื้นที่ การจัดการถอดบทเรียนและเป็นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ด่านหน้าให้องค์การอนามัยโลก ผลการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ไทยทั้ง 3 ชุด ช่วยรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยแล้ว 3,396 คน ส่วนใหญ่เป็นบาดแผลติดเชื้อ โดยพบผู้ป่วยหนักติดเชื้อในกระแสเลือด 3 คน เป็นผู้ป่วยจิตเวช 28 คน ส่งต่อผู้ป่วย 12 คน ส่งผู้ป่วยโรคหอบหืดทางเฮลิปคอปเตอร์ 1 คน

นอกจากนี้ ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชน ฝึกการดูแลรักษาความสะอาดบาดแผล การทำกายภาพบำบัด ส่งทีมออกสำรวจระบบสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ส้วม คัดกรองสุขภาพจิตในชุมชน ขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 12 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 25 หมู่บ้าน ให้ความรู้เรื่องการจัดหาน้ำสะอาด การล้างมือ การประเมินความเครียด การป้องกันโรคเบื้องต้น การดูแลแผล การทำกิจกรรมบำบัดสำหรับเด็กผู้ประสบภัย รวมทั้งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเนปาล คัดกรองให้คำปรึกษา ดูแลผู้ประสบภัยที่อาจมีปัญหาสุขภาพจิต ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ให้กลับมาให้บริการได้ตามปกติ