ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในนโยบายสำคัญของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันอย่าง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.ที่เชื่อกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูปคือ นโยบายทีมหมอครอบครัว ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แรกเริ่มเดิมทีมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ทีมหมอครอบครัวนี้ เป็นนโยบายพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ระบบสาธารณสุขของไทย ถึงขั้นเกือบจะระบุกันแล้วว่า นี่เป็นจังหวะก้าวที่สองของการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย หลังจากเมื่อครั้งปฏิรูปยกที่หนึ่งไปแล้วเมื่อปี 2544 กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวนโยบายหมอครอบครัวแล้ว ถือเป็นนโยบายที่ดี โดยนัยยะของมันคือการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ และไทยก็มีอังกฤษ หนึ่งในประเทศต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นแม่แบบหมอครอบครัว

อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้ามา 6 เดือน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือ นอกจากประกาศผลสำเร็จเรื่องสร้างทีมหมอครอบครัวแล้ว ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะพัฒนาไปอย่างไรต่อ สำหรับประชาชนในเขตเมือง ได้ประโยชน์อย่างไรจากทีมหมอครอบครัวยังมองไม่เห็น ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชนบท อาจจะงงๆ กับหมอครอบครัว และทีมเยี่ยมบ้าน และยังไม่แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วปฏิบัติตัวอย่างไร และเมื่อผนวกเข้ากับความไม่มีเสถียรภาพของการบริการงานในกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้จะเด็ดหัวตัวพ่ออย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเดินสายออกพบปะเครือข่ายในบางเวลาอยู่ขณะนี้แล้ว แต่คลื่นใต้น้ำก็ยังกระเพื่อมไม่หยุดหย่อน

จึงเกิดเป็นคำถามด้วยความห่วงใย ว่าเมื่อการรับรู้เรื่องนโยบายยังไม่ชัด ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ยังไม่ยอมรับ บ้างถึงขั้นแข็งข้อ แม้จะมีบางพื้นที่ที่เข้มแข็งก่อนมีนโยบายนี้เป็นต้นแบบคอยขับเคลื่อน เช่น โมเดลลำสนธิ จ.ลพบุรี และโมเดลแก่งคอย จ.สระบุรี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าได้จนถึงขั้นปฏิรูประบบสุขภาพไทยยกที่สองได้ และแน่นอน ท่ามกลางความห่วงกังวลของนโยบายนี้ ประการสำคัญ คือ เมื่อเจ้ากระทรวงทั้ง 2 คนพ้นอำนาจไปแล้ว ทีมหมอครอบครัวจะยั่งยืนหรือไม่ หรือเงียบหายไปตามเจ้าของนโยบาย เฉกเช่นเดียวกับนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ ที่ผ่านมา

จากข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษหรือซีรีส์ตอน ปฏิรูปสุขภาพยกสองด้วย หมอครอบครัว จะไปถึงฝัน หรือ แป้ก !

ตอนที่ 1 ‘หมอครอบครัว’ เหล้าเก่าในขวดใหม่ พิสูจน์ฝีมือ รมต.สธ. ต่อยอดระบบปฐมภูมิ

ตอนที่ 2 หนุนหมอครอบครัว เชื่อเป็นพลังเดินหน้าปฐมภูมิ แต่หวั่นไม่ยั่งยืน

ตอนที่ 3 นโยบายหมอครอบครัว อืดเหมือนมวยไม่ยอมออกหมัด

ตอนที่ 4 หมออนามัยย้ำ อย่าเพิ่งหวังผล หลายพื้นที่ไม่พร้อมเหมือนต้นแบบ แนะเพิ่มคน-งบ

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 5 โมเดล ‘ลำสนธิ’ 10 ปี พลิกงานเยี่ยมบ้าน สู่การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 

‘ผอ.รพ.ลำสนธิ’ ชี้นโยบายหมอครอบครัวจะเป็นประโยชน์กับพื้นที่ที่กำลังเริ่มต้น ใช้เวลาไม่มาก น้อยกว่าลำสนธิที่ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เหตุขอความร่วมมมือได้ง่าย หากติดขัดยังสามารถผลักดันและเอื้อต่อการแก้ไขปัญหา แจง ทีมหมอครอบครัวสอดคล้องกับสังคมไทยที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ใช้งบไม่มาก ต่างจากตั้งสถานบริบาลเพื่อรวมดูแลผู้สูงอายุเช่นที่ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ทำ ซึ่งใช้งบมาก ทั้งเดินหน้าต่อยาก ระบุสถานการณ์สุขภาพทั่วโลกต่างต้องเผชิญการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว คนพิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่หมอครอบครัวตอบโจทย์นี้ได้ ที่สำคัญต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

จากประชากรประเทศไทย 65 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการดูแลและรักษาพยาบาลต่อเนื่องราว 1.7 ล้านคน ด้วยตัวเลขนี้แม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในระบบรักษาพยาบาลและเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศอย่างมาก แต่ด้วยบุคลากรทางการแพทย์และทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องมีการจัดรูปแบบการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการดูแลที่ทั่วถึง

“ทีมหมอครอบครัว” จึงเป็นคำตอบ ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้เป็นหนึ่งนโยบายที่เร่งขับเคลื่อนของกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้เกิดกระแสการจัดตั้งทีมหมอครอบครัวแล้วกว่า 50,000 ทีมในช่วง 6 เดือนแรก กระจายทั่วทุกพื้นที่ โดยมี “โรงพยาบาลลำสนธิ” จังหวัดลพบุรี ซึ่งได้จัดตั้งทีมหมอครอบครัวมาร่วม 10 ปีและประสบผลสำเร็จ จนเป็นโมเดลต้นแบบของการดำเนินงานทีมหมอครอบครัวนี้   

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นปี 2553-2554 เล่าว่า จุดเริ่มต้นทีมหมอครอบครัวที่นี่เกิดขึ้นปี 2549 จากภาพแรกที่ได้เห็นระหว่างการลงเยี่ยมบ้าน คนแก่นอนติดบ้านติดเตียง ขาดการดูแลที่ดี เพราะลูกหลานไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่ สาเหตุทั้งขาดองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วย สภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ขนาดครอบครัวเล็กลง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรน ชาวบ้านส่วนใหญ่อาชีพรับจ้างหาเช้ากินค่ำ ทำให้คนแก่ที่บ้าน ผู้พิการ และผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ถูกทอดทิ้ง จึงคิดว่าน่าจะมีช่องทางเพื่อช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ เบื้องต้นจึงได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านต่อเนื่อง โดยใช้ช่วงนอกเวลางานพร้อมกับพยาบาลอีกหนึ่งคนที่สนใจ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

การลงไปดูแลผู้ป่วยที่บ้านไม่ได้เกิดจากคำสั่งหรือมีตัวชี้วัด แต่เกิดเราที่เห็นและอยากช่วยผู้ป่วยเหล่านี้โดยใช้มุมมองความเป็นแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพ เพื่อทำให้เขาได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเริ่มต้นจากผู้ป่วย 2 รายก่อน โดยรายหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ และอีกรายหนึ่งเป็นเด็กที่มีภาวะน้ำในสมองบวม ซึ่งจากการลงเยี่ยมบ้านต่อเนื่อง จึงทำให้รู้ว่าเขาต้องการอะไร จนทำให้เกิดการดูแลได้อย่างลึกซึ้ง” ผอ.รพ.ลำสนธิ กล่าว

จากการเริ่มต้นเยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วย 2 รายแรกนี้ นพ.สันติ กล่าวว่า ทำให้อยากรู้ว่าในพื้นที่ยังมีผู้ป่วยเหล่านี้อีกเท่าไหร่ จากการสำรวจพบว่ายังมีผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงที่ยังต้องการการดูแลอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการขยายและชักชวนเพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง ไม่เฉพาะทางกายแต่รวมถึงสุขภาพใจด้วย โดยได้พัฒนา “ทีมสุขภาพ” ขึ้น ใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นฐาน เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่บ้านภายใต้งบประมาณที่เป็นไปได้ ทีมสุขภาพประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา และนักสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งโรงพยาบาลลำสนธิจะเป็นส่วนในการสนับสนุนองค์ความรู้ วิชาการ ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วย

จากการดำเนินงานของทีมสุขภาพในการเยี่ยมดูแลผู้ป่วย ทำให้รับรู้ว่า เพียงแค่ทีมดูแลผู้ป่วยด้านสุขภาพนั้นไม่เพียงพอ แต่เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี มีคุณภาพชีวิตมากขึ้น จะต้องมีการสนับสนุนจาก “ทีมดูแลด้านสังคม” ร่วมด้วย เพื่อช่วยเสริมกำลังครอบครัวในการดูแลกิจวัตรประจำวันให้กับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ป้อนข้าว การดูแลขับถ่าย โดยเริ่มต้นจากอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) แต่ด้วยข้อจำกัดเพราะเป็นงานอาสาสมัครทำให้ไม่มีรายได้ ดังนั้นจึงได้พัฒนาเป็น “นักบริบาลชุมชน” เพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่อยู่ตามบ้านอย่างเป็นทางการ พร้อมกันนี้ยังได้ชักชวนหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล จนทำให้ทีมสุขภาพเติบโตอย่างรวดเร็ว ขยายไปทั่วอำเภอ

นพ.สันติ อธิบายต่อว่า แต่หลังดำเนินงานไปได้ระยะหนึ่ง ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ในการจัดทีมสุขภาพและทีมสังคม หากไม่มีการจัดวางระบบให้ดีก็จะเกิดปัญหาได้ เพราะต่างคนจะต่างทำหน้าที่โดยขาดการเชื่อมต่อ ไม่มีผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบหลักและคอยดูภาพรวมในการดูแลผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้จึงเห็นควรให้หมอซึ่งเป็นเจ้าของไข้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม จึงพัฒนาสู่ “ทีมหมอครอบครัวลำสนธิ” อย่างที่เห็น ขณะที่เมื่อผู้ป่วยและญาติหากมีปัญหาก็จะสามารถปรึกษาหัวหน้าทีมซึ่งเป็นหมอได้ ตรงนี้จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น

หลังการดำเนินทีมหมอครอบครัวมาร่วม 10 ปี ทั้งผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยเรื้อรังในพื้นที่ได้รับการดูแลทั่วถึง ภาพคนแก่ที่ไม่ได้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อสองสามวัน หรือไม่ได้เปลี่ยนผ้าอ้อมนอนกองอยู่บนเตียงไม่มีให้เห็น เรียกว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้หากถามถึงความยากง่ายในการชักชวนภาคส่วนต่างๆ ในการเข้าร่วมทีมหมอครอบครัวนี้ คิดว่าเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะสิ่งที่เราทำตรงกับสภาพปัญหาและความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งทุกคนต่างเห็นเหมือนกันหมด และเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนและท้องถิ่นอยากทำอยู่แล้ว

หากถามถึงทีมหมอครอบครัวลำสนธิ เราเกิดจากการเรียนรู้ความทุกข์ของชาวบ้าน และอยากหาทางออกกับมัน ซึ่งเราไม่ต้องการทำเพียงหนึ่งหรือสองราย แต่เราต้องการหาทางออกกับชาวบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ทั้งหมด จึงเกิดการพัฒนาระบบ มีทีมสุขภาพบวกทีมสังคมเข้ามาช่วยกันดู ร้อยเรียงให้มีความชัดเจน ที่สุดกลายจึงกลายทีมหมอครอบครัว ที่สำคัญคือเรามีความตั้งใจไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยของเรา มีเป้าหมายชัดเจน กระบวนการต่างๆ จึงค่อยๆ เติบโต ซึ่งในระหว่างทางการมีการปรับระบบต่อเนื่อง จนเริ่มนิ่งเมื่อช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีอะไรสมบูรณ์เพราะยังต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไป” ผอ.รพ.ลำสนธิ กล่าว

สำหรับนโยบายทีมหมอครอบครัวที่กระทรวงสาธารณสุขผลักดันขณะนี้ นพ.สันติ เห็นว่า การกำหนดเป็นนโยบายจะทำให้การจัดตั้งทีมหมอครอบครัวจะเป็นประโยชน์กับพื้นที่ซึ่งเริ่มต้น เพราะจะทำให้ใช้เวลาดำเนินการไม่มาก น้อยกว่าที่ลำสนธิซึ่งต้องใช้เวลาถึงสิบปี เพราะการขอความร่วมมือจะง่ายขึ้น หากมีเรื่องติดขัดนโยบายจะช่วยผลักดันและเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้ทีมหมอครอบครัวนับเป็นนโยบายที่ดีอย่างมาก สอดคล้องกับสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งยังเป็นแนวทางซึ่งได้รับการยอมในระดับสากลที่เรียกว่า “การดูแลสุขภาพระยะยาว (Long term Care)” เพราะเป็นรูปแบบที่ใช้งบประมาณไม่มาก หากเปรียบเทียบกับการจัดตั้งสถานบริบาลเพื่อรวมดูแลผู้สูงอายุที่ในหลายประเทศดำเนินไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น เป็นต้น และเริ่มมีบทเรียนแล้วว่า รูปแบบนี้ สถานบริบาลนี้เดินหน้าต่อไปได้ยาก เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลโดยเฉพาะในสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นพ.สันติ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว รวมถึงผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย นับเป็นโจทย์สถานการณ์สุขภาพที่ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาอยู่ ไม่เฉพาะประเทศไทย และนโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” นี้ จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับปัญหานี้ เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

ตอนต่อไปติดตาม ตอนที่ 6 แนะทำตามความพร้อมรายพื้นที่ จี้เดินหน้าเขตสุขภาพตอบโจทย์กว่า