ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : ‘อัมมาร’ หนุนแนวคิดดึง รพ.เอกชนระดับกลางเข้าระบบ สปสช.ให้มากขึ้น จะทำให้คนชั้นกลางใช้สิทธิ 30 บาท ไม่จำเป็นต้องไปเข้าเอกชน แต่ให้รัฐดูแลค่าใช้จ่ายและค่ายาแทนประชาชน เพื่อให้ช่องว่าง รพ.รัฐ-เอกชนน้อยลง หากงบไม่พอก็ต้องขอเพิ่ม ด้าน กพย.ชี้ให้มีใบสั่งยาเองไม่ช่วยแก้ปัญหาค่ารักษาแพง เหตุยาถูกทำให้แพงจากต้นทางอยู่แล้ว ยัน สบส.มีอำนาจใช้ พ.ร.บ.สถานพยาบาลคุมราคา รพ.เอกชนได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ทำ ขณะที่ ‘ปรียนันท์’ หนุนใช้ ม.44 แก้ปัญหา โละบอร์ดแพทยสภา แล้วตั้งกรรมการกลางจากหลายฝ่าย

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่โรงแรมแมนดาริน แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จัดเสวนาเรื่อง ทำไมต้องควบคุมราคายา โดย ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในงานว่า ปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คือ ทำให้คนคิดว่าเป็นระบบสงเคราะห์ คือเฉพาะคนจนเท่านั้นที่มีโอกาสใช้ เนื่องจากหากชนชั้นกลางหรือคนรวยจะใช้สิทธิ์ จำเป็นต้องใช้เวลานานกว่าจะรับการรักษา รวมถึงกังวลว่ามาตรฐานการรักษาจะด้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน

ทั้งนี้ ศ.อัมมาร สนับสนุน ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เจรจาให้โรงพยาบาลเอกชนในระดับกลาง เข้าร่วมระบบ 30 บาท มากขึ้น เพื่อให้ชนชั้นกลางและคนรวยสามารถใช้สิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อประกันเอกชน หรือจ่ายค่ารักษาในราคาแพง โดยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงค่ายาแทน ซึ่งหากงบประมาณในระบบไม่พอ ก็จำเป็นต้องเพิ่มให้มากขึ้น เพื่อให้ช่องว่างระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลรัฐน้อยลง

ด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ควรเพิ่มมาตรการในการดูแล หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ อาทิ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึง กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะที่ผ่านมา แม้ สบส.จะมี พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ สำหรับควบคุมโรงพยาบาลเอกชนเป็นของตัวเอง แต่กลับใช้อำนาจแค่ขึ้นทะเบียน และติดตามการให้บริการเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ได้ให้อำนาจในการตรวจสอบคุณภาพ ราคา หรือแม้กระทั่งมีคู่มือแนะนำการคิดต้นทุนโรงพยาบาลเอกชนด้วยซ้ำ แต่กลับไม่ประกาศใก้ประชาชนได้เห็น

ส่วนมาตรการในการให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อยาเองนั้น ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะหากผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อเอง ยาที่ร้านขายยาก็มีราคาสูงอยู่ดี เพราะยาถูกทำให้แพงจากต้นทางคือบริษัทยา เพราะฉะนั้น จึงสนับสนุนให้ พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เปิดเผยต้นทุนโครงสร้างราคายาแต่ละชนิด

ขณะที่ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ไม่ได้เรียกร้องให้โรงพยาบาลเอกชนห้ามทำธุรกิจ แต่ขอให้ไม่โก่งราคา ไม่คิดราคาเกินจริง นอกจากนี้ ยังพบว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาล ยังใช้กลไกกรรมาธิการสาธารณสุข ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีที่ปรึกษาเป็นกลุ่มแพทยสภา และโรงพยาบาลเอกชนเป็นจำนวนมาก จึงไม่เชื่อว่าสามารถจะแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยุบกรรมการแพทยสภาชุดนี้ และตั้งกรรมการกลางหลายๆ ฝ่ายมาหาทางออกร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า หากปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนเติบโตโดยเสรีจะมีปัญหาแน่นอน เทียบกับในต่างประเทศ ไม่มีประเทศใดที่ให้เติบโตเสรีอย่างในประเทศไทย เพราะฉะนั้น ต้องหาทางให้รัฐเข้าไปควบคุม อย่างน้อยที่สุดคือ การเข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีกลไกกำกับควบคุม ไม่งั้นโรงพยาบาลจะปั่นหุ้น ทำให้ค่ารักษา ค่ายาแพงขึ้น และเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ศ.อัมมารที่ให้รัฐเป็นผู้ซื้อบริการสุขภาพ และยาแทนประชาชนไปรับบริการตามลำพัง เพราะหากให้ประชาชนต่อรองราคายาและค่าบริการ คงทำได้ยาก

ขอบคุณภาพจาก facebook/กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ