ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“จอน อึ้งภากรณ์” แนะ รัฐบาล ดึง รพ.เอกชน ร่วมบริการผู้ป่วยบัตรทอง ช่วยลดแรงต้านรวมกองทุน กำหนดเงื่อนไขขอใบอนุญาต รพ.เอกชน ต้องมีสัดส่วนบริการผู้ป่วยบัตรทอง รวมถึงกันเตียงผู้ป่วยรองรับ เหตุเป็นแหล่งดูดทรัพยากรรักษาพยาบาลประเทศ ควรมีส่วนรับผิดชอบประชาชน พร้อมระบุ 14 ปี งบเหมาจ่ายรายหัวปรับเพิ่มสมเหตุสมผล     

นายจอน อึ้งภากรณ์

นายจอน อึ้งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงกรณีการปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นการปรับเพิ่มงบประมาณที่เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เพราะเมื่อดูภาพรวมงบประมาณของประเทศทั้งหมด สัดส่วนงบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐยังอยู่เท่าเดิน โดยปรับเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์และอัตราค่าครองชีพเท่านั้น อีกทั้งในช่วงเริ่มงบเหมาจ่ายในอัตรา 1,202 บาทต่อคน ในปี 2545 สิทธิประโยชน์ต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมเท่าปัจจุบันที่ได้มีการปรับเพิ่มในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ด้านเอชไอวี ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ตามข้อเสนอจากภาคประชาชน และถือว่าความคุ้มค่าเพราะช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา และยังช่วยลดจำนวนครัวเรือนไม่ให้ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลลงได้ โดยประชาชนต่างพึ่งพอใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งนี้ที่ผ่านมามักมีการพูดถึงงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมองว่าจะเป็นภาระงบประมาณของประเทศนั้น คำถามคือเรามีรัฐบาลและงบประมาณประเทศไว้ทำอะไร เพราะหลักการสำคัญของการบริหารงบประมาณคือต้องทำให้คุณภาพชีวิตคนในประเทศดีขึ้น รวมถึงการดูแลสุขภาพประชาชน และเท่าที่ดูเห็นว่าภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศยังไม่สูงมาก โดยเฉพาะเมื่อดูงบประมาณที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งต้องดูแลคนถึง 48 ล้านคน ทั้งนี้หากจะประหยัดควรลดค่าใช้จ่ายในกองทุนรักษาพยาบาลโดยทำให้มีมาตรฐานเดียวกันมากกว่า

ส่วนข้อเสนอของการรวมกองทุนนั้น นายจอน กล่าวว่า คิดว่ายังเป็นไปได้ยาก เพราะทุกครั้งที่มีข้อเสนอเรื่องนี้จะมีการคัดค้านทั้งจากข้าราชการและผู้ประกันตน เพราะต่างคิดว่ามีสิทธิประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะข้าราชการ แต่เมื่อดูข้อเท็จจริงในงบประมาณที่ใช้กลับแตกต่างกันถึง 5 เท่า ขณะที่สิทธิประโยชน์ที่ได้กลับไม่ต่างกันมากนัก ส่วนผู้ประกันตนยังรู้สึกว่ามีความสะดวกและมีสิทธิในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นการรวมกองทุนจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าบริหารเช่นเดียวกับกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังคงความเหลื่อมล้ำ แต่ด้วยการบริหารจะทำให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาและรวมกันได้เอง

“ผมคิดว่าเราสามารถให้ สปสช.เข้าไปบริหารกองทุนรักษาพยาบาลทั้งระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการได้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายให้ระบบ เพียงแต่ผู้มีสิทธิทั้ง 2 กองทุนนี้ ยังไม่เชื่อใจสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคิดว่าเขายังใช้สิทธิในโรงพยาบาลเอกชนได้ ดังนั้นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องเข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตว่า โรงพยาบาลเอกชนต้องรับดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และให้มีการกันเตียงผู้ป่วยส่วนหนึ่งสำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้”  

นายจอน กล่าวต่อว่า ปัญหาระบบบริการรักษาพยาบาลของประเทศไทย คือเรามีโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากที่ให้บริการโดยเน้นคนมีเงิน โดยดูดทรัพยากรในระบบสุขภาพไปจำนวนมาก โดยเฉพาะบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และวิชาชีพในระบบ แต่กลับไม่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นระบบดูแลคนในประเทศ

“ผมคิดว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ข้าราชการและผู้ประกันตนพร้อมเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้น ทั้งยังช่วยลดปัญหาการรอคิวและความแออัดในโรงพยาบาลภาครัฐ ที่เป็นการพัฒนาระบบสุขภาพร่วมกัน แต่ต้องถามว่ารัฐบาลไหนจะกล้าทำ” นายจอน กล่าวและว่า ทั้งนี้หากดูระบบสุขภาพที่เข้มแข็งอย่างในอังกฤษและกลุ่มยุโรป ระบบบริการสุขภาพของเอกชนจะเล็กมาก โดยคนรวยเท่านั้นที่จะใช้บริการระบบเอกชน แต่ประเทศไทยกลับมีระบบเอกชนที่โตเกินไปและคอยดึงทรัพยากรในระบบสุขภาพของประเทศ จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในอนาคต นอกจากนี้ต้องมีการเพิ่มค่าปรับการใช้ทุนของแพทย์กรณีที่มีการลาออกไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชน เพราะปัจจุบันค่าปรับมีอัตราที่ต่ำมากเช่นกัน