ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ยันงบบัตรทองไม่ใช่ภาระของประเทศ เผยค่าใช้จ่ายสุขภาพระบบบัตรทองอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของจีดีพีเท่านั้น ไม่ใช่ร้อยละ 4 ที่เป็นภาพรวมค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งประเทศ แจง 15 ปี งบบัตรทองปรับเพิ่มเหตุ 4 ปัจจัย “ค่าแรง-สิทธิประโยชน์–การใช้บริการเพิ่มขึ้น-โครงสร้างประชากร” ส่วนปัจจัยเงินเฟ้อมีผลต่อการเพิ่มงบไม่มาก เพื่อดูแลคนไทย 48 ล้านคนเข้าถึงการรักษา พร้อมเดินหน้างานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทั้งประเทศ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประกอบด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ค่าแรงบุคลากรหน่วยบริการภาครัฐ โดยทุกปีมีการปรับเพิ่มเงินเดือนอย่างน้อยร้อยละ 6 ที่เป็นเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนระบบราชการ และบางปีมีการเพิ่มถึงร้อยละ 10 2.การพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาพยาบาล ทำให้ต้องมีการปรับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง อาทิ การเข้าถึงยามะเร็ง ไตวายเรื้อรัง และยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น และเพื่อให้ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วย 3.อัตราใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่เพิ่มขึ้น จากการเข้าถึงบริการที่ดีขึ้น 4.อัตราโครงสร้างของประชากร ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจะทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับบริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง

ส่วนของอัตราเงินเฟ้อเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการคำนวณงบเหมาจ่ายรายหัว แต่เป็นส่วนที่น้อยมาก โดย สปสช.จะอ้างอิงเงินเฟ้อเฉพาะในส่วนราคายาที่ส่วนใหญ่เป็นสามัญ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และสาธารณูปโภคเท่านั้น ดังนั้นเงินเฟ้อจึงมีผลต่อการปรับเพิ่มงบไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับ 4 ปัจจัยข้างต้น ดังนั้นงบเหมาจ่ายรายหัวที่เพิ่มในช่วง 15 ปี จึงไม่ได้ผูกกับอัตราเงินเฟ้อแต่เพียงอย่างเดียว อีกทั้งเรื่องราคาสินค้าเป็นเศรษฐศาสตร์การตลาด แต่เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเป็นเรื่องการรักษา จึงใช้วิธีคิดและคำนวณเช่นเดียวกับสินค้าทั่วไปไม่ได้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนที่มีการระบุถึงภาระงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยอ้างอิงเปรียบเทียบกับอัตราจีดีพีของประเทศที่ค่าใช้จ่ายสุขภาพของไทยอยู่ที่ร้อยละ 4% ของจีดีพีนั้น ขอชี้แจงว่าอัตราดังกล่าวเป็นตัวเลขภาพรวมค่าใช้จ่ายสุขภาพของทั้งประเทศในทุกระบบรวม รวมถึงการจ่ายค่ารักษาโดยครัวเรือน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นงบประมาณที่นำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพเพียงแค่ร้อยละ 1.2-1.3 เท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีข้อกังวลถึงภาระงบประมาณที่นำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น มีหลักเกณฑ์โดยดูจาก 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ 1.ค่าใช้จ่ายสุขภาพต่อจีดีพี ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 4 ตามที่ระบุข้างต้น โดยยังคงเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle income country) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.1 สะท้อนว่าประเทศไทยยังสามารถเพิ่มการลงทุนเพื่อสุขภาพของประชาชนได้อีก 2.ค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐเมื่อดูจากสัดส่วนรายจ่ายประจำปี โดยระดับสากลต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐของไทยอยู่ที่ร้อยละ 14  จำนวนนี้เป็นงบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ในการดูแลคนไทยถึง 48 ล้านคน ส่วนอีกร้อยละ 10 เป็นค่าใช้จ่ายสุขภาพที่รัฐอุดหนุนระบบอื่น ทั้งสวัสดิการข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประกันสังคม เป็นต้น ที่ครอบคลุมประชากรประมาณ 14 ล้านคน 

3.สัดส่วนการจ่ายบริการสุขภาพระหว่างภาครัฐและประชาชน ปัจจุบันภาครัฐจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 80 และประชาชนจ่ายเพียงร้อยละ 14 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายจ่ายสุขภาพครัวเรือนในกลุ่มประเทศความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เท่ากับร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนไทยได้รับการคุ้มครองจากภาระรายจ่ายด้านสุขภาพดีกว่า องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ลดรายจ่ายสุขภาพของครัวเรือนลง เนื่องจากรายจ่ายสุขภาพโดยครัวเรือนเป็นอุปสรรคกีดกันคนจนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น

“ไม่ปฏิเสธว่างบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพมีการปรับเพิ่มต่อเนื่อง แต่เป็นการเพิ่มที่เทียบกับความเป็นจริง ซึ่งจากปี 2545 อัตรางบเหมาจ่ายเริ่มที่ 1,202 บาทต่อคน และในปี 2559 ครม.อนุมัติงบที่ 3,028 บาท โดยงบส่วนนี้ไม่เฉพาะครอบคลุมการรักษาพยาบาลผู้มีสิทธิ์ 48 ล้านคน แต่ยังจัดบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับคนทั้งประเทศด้วย และหากบอกว่าเป็นการปรับเพิ่มงบแบบก้าวกระโดด ต้องดูว่าเปรียบเทียบกับอะไร หากเทียบกับจีดีพี ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศก็ยังคงที่ร้อยละ 4 ของจีดีพีมาโดยตลอดและไม่เคยขยับขึ้น สะท้อนว่าแม้งบประมาณจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประเทศยังเท่าเดิม ดังนั้นจะดูที่ตัวเงินอย่างเดียวไม่ได้

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า การคิดงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการคิดโดยเริ่มต้นจากประชาชน มุ่งตอบโจทย์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและลดภาระค่ารักษาที่ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือน และเป็นหลักการที่ใช้ในการคำนวณมาตลอด ซึ่งหากตั้งต้นการคำนวณเพื่อมุ่งลดค่าใช้จ่ายและภาระการรักษาพยาบาลให้กับภาครัฐถือว่าผิดหลักการและเป็นการตั้งโจทย์ผิดและจะโยงไปสู่แนวคิดผลักภาระให้ประชาชนในที่สุด