ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.คมชัดลึก : "เรื่องประกันสังคมที่ผ่านเข้าหู มีแต่เรื่องสีเทาๆประชาชนตาดำๆ อย่างเรา ไม่รู้หรอกว่าเขาเอาเงินไปทำอะไร ขนาดเงินเรา เรายังแตะไม่ได้เลย" เสียงสะท้อน จาก อรุณี ศรีโต จากสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา ระหว่างการประชุมเพื่อหารือในการทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาเป็นอนุบัญญัติประกอบพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558

หลังจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข ปี 2558 ผ่านการเห็นชอบจาก สนช. เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของสำนักวานประกันสังคมที่จะต้องออกอนุบัญญัติ หรือกฎหมายลูก ให้สอดคล้องกับกฎหมายหลัก ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานประกันสังคมเอง ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อออกกฎระเบียบต่างๆแล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วม ทางเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน หรือ คปค.จึงได้ทำงานในลักษณะ "คู่ขนาน" ร่วมกันร่างอนุบัญญัติ เพื่อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม ในหลายๆประเด็น อาทิ การได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุน เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

จากการขอเข้าไปมีส่วนร่วมนี้ อรุณีให้เหตุผลว่า ตลอดเวลาที่มีกองทุนประกันสังคม ไม่ว่ายุคสมัยใดผู้ประกันตนจะไม่มีสิทธิ์เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินไม่อาจทราบได้เลยว่า เงินที่มีอยู่ในกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง ส่วนการรักษาพยาบาลก็ไม่ครอบคลุมตามความเป็นจริง เช่น การถอนฟัน 1 ครั้ง ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 600 บาท ซึ่งใน 1 ปี จะต้องรักษาไม่ต่ำกว่า 1 ครั้ง แต่ประกันสังคมสามารถเบิกได้แค่ปีละ 600 บาทเท่านั้น จึงอยากถามว่า เพียงพอแล้วหรือยัง

ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับล่าสุด ที่แก้ไขไปแล้วนั้น ตามมาตรา 8 วรรค สาม ที่ระบุว่าจะต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้นายจ้างและผู้ประกันตนมีสิทธิ์เข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารจัดการด้วย โดยผ่านการเลือกตั้งจากผู้ประกันตกที่มีสิทธิกว่า 13 ล้านคน สามารถใช้สิทธิเลือกตัวแทนเข้าไปรักษาผลประโยชน์แบบโปร่งใสได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความหวังที่ผู้ประกันตนจะเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกองทุนที่มีมูลค่ามหาศาล

"อยากเห็นผู้ที่มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมสร้างให้สำนักงานประกันสังคมมีแสงสว่างโปร่งใส เพราะที่ผ่านมาได้ยินเข้าหู มีแต่เรื่องสีเทาๆ" อรุณี กล่าว และว่า จึงขอมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ขอมีสิทธิ์เลือกคนดีที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมาดูแลเงินและสุขภาพของผู้ประกันตน

เช่นเดียวกับ ภาคภูมิ สุกใส จากสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย บอกว่า กฎหมายประกันสังคมตาม มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ระบุไว้ว่า ให้คณะกรรมการประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนโดยตรง ดังนั้น ในนามเครือข่ายประกันสังคมทำงาน จึงขอเสนอร่างกฎหมายอนุบัญญัติพระราชบัญญัติประกันสังคม หรือกฎหมายลูกการเลือกตั้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเสนอ 2 รูปแบบ คือ ให้ผู้ประกันตนทุกคนใช้สิทธิเลือกโดยตรง แบบ 1 คน ต่อ 1 เสียง โดยจัดหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้านและสองคือ ผู้ประกันตนเลือกตัวแทนของแต่ละกลุ่มเข้ามาคัดเลือกในส่วนกลาง

ในกฎหมายลูกจะต้องมีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และค่าเสียหายเบื้องต้นจากความเสียหายทางการแพทย์ ตามมาตรา 63 วรรคหนึ่ง โดยให้ผู้ประกันตนต้องได้รับบริการเสริมจากพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานของ สปสช.แต่หากผู้ประกันตนต้องการรักษาที่นอกเหนือจากมาตรฐานก็ให้นำเงินส่วนของประกันสังคมมาใช้ เช่น ให้ผู้ประกันตนตรวจร่างกายประจำปี เมื่อพบความเสี่ยงโรคร้ายแรงทุกโรคก็ทำการรักษาได้เลย และหากผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย ประกันสังคมต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน และให้ประกันสังคมมีสิทธิไปไล่เบี้ยกับผู้กระทำผิดได้

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนจะต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ มีระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ มีเงินกองทุนสำรองจ่ายสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และเป็นโรคร้ายแรง มีระบบการจัดการการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาชดเชยความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์เบื้องต้น และให้คณะกรรมการการแพทย์ออกประกาศให้นำเงินกองทุนทดแทนมาใช้สำหรับการส่งเสริมป้องกันโรค ส่วนการส่งเสริมและป้องกันโรคนั้นจะต้องเน้นให้เกิดการพัฒนาระบบคัดกรอง การป้องกันการฟื้นฟู และการให้บริการที่สอดคล้องกับโรคที่เกิดจากการทำงาน ให้มีนอกเหนือจากบริการของ สปสช.ที่ทำเป็นตัวอย่างไว้แล้ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 1 พฤษภาคม 2558