ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ปฐมนิเทศทีมแพทย์ไทยชุดที่ 2 จำนวน 24 คน พร้อมเดินทางพรุ่งนี้ ช่วยผู้ประสบภัยที่รพ.สนาม ต.ซิปปะกัต อ.สินธุปาลโชค เน้นรักษาและออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ งานสาธารณสุขชุมชน คัดกรองสุขภาพจิต และเตรียมสำรวจพื้นที่บริการเพิ่มร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเนปาล โดยรัฐบาลเนปาลแสดงความขอบคุณไทย เป็นเพื่อนแท้ยามยาก ช่วยเหลือชาวเนปาลอย่างดี ผลบริการผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 100 ราย ผู้ป่วยหนักวันละ 1 ราย ยังไม่พบโรคระบาด

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ และทีมส่วนหน้าของกระทรวงกลาโหม ณ สถานทูตไทยที่เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล โดยมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และให้สัมภาษณ์ว่า ในงานสันนิบาตเมื่อคืนวานนี้ เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทยได้พบนายกรัฐมนตรี และกล่าวขอบคุณประเทศไทย ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว และได้ชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นเพื่อนแท้ในยามยาก

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เช้าวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปฐมนิเทศทีมแพทย์ไทยชุดที่ 2 จำนวน 24 คน ที่จะไปเดินทางไปเนปาลในวันพรุ่งนี้ เพื่อผลัดเปลี่ยนทีมชุดเดิมที่ต.ซิปปะกัต อ.สินธุปาลโชค ซึ่งเป็นทีมผสม ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ราชวิถี สำนักงานป้องกันควบคุมโรค จ.อุบลราชธานี ทีมจาก รพ.ภูมิภาคจากจังหวัดสุพรรณบุรี สระบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี สมุทรปราการ ลำพูน มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต๊กตึ๊ง ประกอบด้วยแพทย์ 8 คน ในจำนวนนี้ มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศัลยแพทย์ จิตแพทย์ แพทย์ด้านระบาดวิทยา พยาบาล 7 คน ที่เหลือเป็นนักวิชาการสาธารณสุข เวชกิจฉุกเฉิน อาสาสมัคร โดยมี นพ.ศรายุทธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมป้องกันโรค จ.อุบลราชธานี เป็นหัวหน้าทีม

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติงานของทีมแพทย์ไทยชุดที่ 2 จะเน้นหนัก 2 ภารกิจ คือการรักษาพยาบาลที่รพ.สนาม และการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เดินเท้าเข้าไปยังหมู่บ้านซึ่งเป็นชุมชนบนภูเขา เพื่อ ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหาร ส้วม การทำงานเชิงรุกด้านสาธารณสุขมูลฐาน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูชุมชนให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และการฟื้นฟูสุขภาพจิต ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ 2 จะพบปัญหาชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ผู้ได้รับบาดเจ็บพิการ ผู้ที่สูญเสียญาติและทรัพย์สิน หญิงตั้งครรภ์ เด็ก โดยจะมีศิษย์เก่าปริญญาโทและเอกของม.มหิดลซึ่งเป็นชาวเนปาล มาร่วมทำงานในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านการสื่อสารได้มาก ทั้งนี้ รายงานของสถานทูตไทยประจำกรุงกาฐมาณฑุ วันที่ 5 พฤษภาคม 58 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 14,535 คน เสียชีวิต 7,557 คน บ้านพัง 200,552 หลัง และเสียหายบางส่วน 186,285 หลัง 

สถานการณ์ที่ผ่านมายังไม่พบโรคระบาด การบาดเจ็บมีจำนวนลดลงจากช่วงแรกที่มีร้อยละ 60 เหลือประมาณร้อยละ 30 พบการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ มากขึ้น ผลการให้บริการหน่วยแพทย์ไทย มีผู้ป่วยเฉลี่ยวันละประมาณ 100 ราย ผู้ป่วยหนักวันละ 1 ราย โรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัยกลับมาให้บริการได้ตามปกติ ทั้งนี้ ทีมแพทย์ชุดที่ 2 จะนำผงทำน้ำดื่มที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานให้กระทรวงสาธารณสุข 120,000 ซอง ไปแจกให้ประชาชนในหมู่บ้านบนเขา ซึ่งประปาภูเขาเสียหายหรือไม่มีประปาใช้ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดดื่ม ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคทางเดินอาหารได้  

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ในวันศุกร์นี้ทีมแพทย์ไทยจะลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเนปาล สำรวจพื้นที่บริการเพิ่มเติมในเขตอำเภอสินธุปาลโชค เพื่อประเมินสภาพปัญหาและบริการทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม การส่งทีมแพทย์ไทยไปปฏิบัติงานช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เนปาลครั้งนี้ ได้รับประสบการณ์ 2 เรื่องสำคัญ คือการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการเรียนรู้ระบบการประสานงานความช่วยเหลือนานาชาติ นำมาถอดบทเรียน เพื่อใช้ต่อหากเกิดภัยพิบัติในประเทศไทยในอนาคต