ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 3 ไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ  เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

โดยในรายละเอียดของร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นี้ ได้มีแก้ไขเพื่อขยายความคุ้มครองและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างและผู้ประกันตนให้ครอบคลุมและ ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของในกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ได้มีการขยาย ความคุ้มครอง "ลูกจ้าง" โดยเพิ่มความคุ้มครองลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ จากเดิมกรณีลูกจ้างส่วนราชการ  มีการคุ้มครองเฉพาะ"ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน" เท่านั้นส่วนลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศรวมก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับใหม่นี้

นอกจากนี้ยังปรับปรุงคำว่า "ลูกจ้าง" ให้ครอบคลุมลูกจ้างทั้งหมด จากเดิมที่ยังไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน อันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

ด้าน "สิทธิประโยชน์" กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนในหลายกรณี ได้แก่

กรณีผู้จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพและตาย โดยผู้ประกันตนหรือบุคคลสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างถึงแก่ความตายโดยไม่ใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานหรือทุพพลภาพจนถึงแก่ความตายนั้น กฎหมายเดิมบัญญัติว่าไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรือความคุ้มครองในกรณีดังกล่าว

แต่กฎหมายที่ปรับแก้ไขใหม่ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่จงใจทำให้ตนเองบาดเจ็บทุพพลภาพและตายหรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น

กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เดิมมีสิทธิให้ได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย สำหรับกฎหมายใหม่ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีได้รับ ความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์

กรณีคลอดบุตร ปัจจุบันผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือภริยา หรือสำหรับหญิงซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยากับผู้ประกันตนโดยเปิดเผยซึ่งได้ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรให้ผู้ประกันตนแต่ละคนมีสิทธิได้รับสำหรับการคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง

โดยมีการเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท และเงินสงเคราะห์กรณีหยุดงาน 90 วัน ซึ่งกฎหมายใหม่ยังคงให้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขเดิม แต่ไม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการรับสิทธิของผู้ประกันตน

กรณีดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีอัตราการเกิดน้อยลง หนุ่มสาวที่แต่งงานกันไม่ค่อยอยากมีบุตร จึงทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น สำนักงานประกันสังคมจึงเพิ่มสิทธิประโยชน์ตัวนี้เพื่อจูงใจ ผู้ประกันตนที่มีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรได้มีบุตรกันมากขึ้น

ขณะที่ กรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิมกฎหมายปัจจุบันให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุ  0-6 ปี โดยบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น โดยเป็นการเหมาจ่ายรายเดือนๆ ละ 400 บาทต่อคน จำนวนคราวละไม่เกิน "2 คน" นั้น ได้มี การแก้ไขในกฎหมายใหม่เป็นจำนวนคราวละไม่เกิน "3 คน" แทน

สำหรับกรณีทุพพลภาพ กฎหมายเดิมให้สิทธิประโยชน์ในกรณีที่ผู้ประกันตนต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย 50% ขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ และผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มี.ค.2538 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 15 ปี แต่ในกฎหมายฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตนซึ่งสูญเสียสมรรถภาพของร่างกายไม่ถึง 50% ก็มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพตามกฎหมาย และให้สิทธิแก่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพที่อยู่ก่อนวันที่  31 มี.ค.2538 ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิต

กรณีตาย กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยกฎหมายเดิมระบุเรื่องเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายไว้ว่า ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 10 ปี ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับ 50% ของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ คูณด้วย 3 แต่กฎหมายฉบับใหม่ ปรับเพิ่มเป็น คูณด้วย 4 ส่วน กรณีก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับ 50% ของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้  คูณด้วย 10  นั้นกฎหมายฉบับใหม่ปรับเป็น  คูณด้วย 12 อีกทั้งยังมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาท เช่น บิดา มารดา บุตร และคู่สมรส ไม่สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยเงินบำเหน็จชราภาพจะตกเป็นของกองทุน นั้นกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ให้ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท

หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุ จะให้สิทธิแก่พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ได้ รวมทั้งขยายระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจาก  1 ปี เป็น 2 ปีอีกด้วย

รวมทั้งในตัวกฎหมายปัจจุบัน ยังไม่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ในกรณีเป็นผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง จนถึงแก่ความตาย ได้แก่ เงินค่าทำศพ เงินสงเคราะห์กรณีตาย เงินชราภาพ ซึ่งในกฎหมายใหม่ ได้เพิ่มสิทธิกรณีตายแก่ผู้เจ็บป่วยเรื้อรังดังกล่าวเอาไว้ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ

โดยกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับใหม่ว่า "กรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือทุพพลภาพ ถึงแก่ความตาย ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ โดยให้นำเงินทดแทนการขาดรายได้ที่ผู้ประกันตนได้รับในเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตายมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ และในกรณีที่มีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายด้วย ให้ได้รับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ตามในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน"

นอกจากนี้ กรณีว่างงาน ที่เดิมกฎหมายให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น แต่กฎหมายใหม่ได้เพิ่มให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตนกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม จะมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้าง

ทั้งนี้การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 นับเป็นส่วนสำคัญที่ เอื้อต่อการปฏิรูประบบประกันสังคม ตลอดจนให้มีความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ แก่ผู้ประกันตนและลูกจ้าง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและครอบคลุมการทำงานในทุกสายอาชีพ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ ก็ต่อเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ขณะเดียวกัน สำนักงานประกันสังคมก็จะต้องเร่งออกกฎหมายลูก จำนวน  17 ฉบับ เพื่อมารองรับกฎหมาย ภายในกรอบเวลา 120 วันด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 พฤษภาคม 2558