ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทย เน้นพื้นที่ติดชายแดน 31 จังหวัด เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน และป้องกันโรคแพร่ระบาด โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะจัดบริการทางการแพทย์ ส่วนไอโอเอ็มเป็นฝ่ายสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนางาน ชูไทยเป็นตัวอย่างระดับโลกช่วยเหลือสุขภาพแรงงานต่างชาติ

วันนี้ (19 พฤษภาคม 2558) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายเจฟฟรีย์ ลาโบวิทซ์ หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐาน หรือไอโอเอ็ม (International Organization for Migration : IOM) ร่วมลงนามความร่วมมือสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในกลุ่มประชากรต่างด้าวในจังหวัดชายแดน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชากรต่างด้าวครอบคลุมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนและมิได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายกำหนด

สาระของความร่วมมือครั้งนี้ จะดำเนินการในพื้นที่ 31 จังหวัดติดชายแดน ซึ่งมีประชากรต่างด้าวเข้ามาอาศัยจำนวนมาก อาทิ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ระนอง เชียงราย อุบลราชธานี สุรินทร์ ตราด สระแก้ว เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ จัดบริการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อยจนถึงอาการหนัก เจ็บป่วยฉุกเฉิน วางแผนครอบครัว งานอนามัยแม่และเด็ก โภชนาการ สุขาภิบาลอนามัยสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะมูลฝอย การควบคุมป้องกันโรค เช่น โรคเชื้อเอชไอวี โรคมาลาเรีย โรควัณโรค โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น ส่วนไอโอเอ็มจะเป็นฝ่ายสนับสนุนการเงินให้กับสถานพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมโครงการ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี และจะติดตามประเมินผลโครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 4 ล้านคน ร้อยละ 50 เป็นผู้ใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยในเรื่องบริการสุขภาพในประชาชนกลุ่มนี้ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน จากการวิเคราะห์สถิติการเจ็บป่วยของต่างด้าวที่พบ 43,075 ราย มากที่สุด คือ อุจจาระร่วง ตาแดง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มือเท้าปาก อีสุกอีใส และไข้หวัดใหญ่ ส่วนโรคที่ต่างด้าวเสียชีวิตมากที่สุด คือ ปอดบวม มือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ และพิษสุนัขบ้า จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กทม. ตาก เชียงใหม่ เชียงราย

กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายให้ต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทยทุกคน ซื้อหลักประกันสุขภาพทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยกลุ่มผู้ใหญ่ที่มาใช้แรงงานในประเทศไทย มีอัตรา 2,700 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้ามาใช้แรงงานแบบเช้าไปเย็นกลับมี 3 อัตรา ได้แก่ ระยะ 3 เดือนอัตรา 1,000 บาท ระยะ 6 เดือนอัตรา 1,400 บาท ระยะ 1 ปีอัตรา 2,100 บาท รวมค่าตรวจ และกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี อัตรา 365 บาท มีผลคุ้มครอง 1 ปี เพื่อให้ต่างด้าวเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง รวมทั้งจะเป็นการป้องกันควบคุมโรคติดต่อจากต่างด้าวไม่ให้มาแพร่ระบาดในประเทศไทย

ทางด้านนายเจฟฟรีย์ ลาโบวิทซ์ หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างระดับโลกในการช่วยเหลือด้านสุขภาพในแรงงานต่างชาติ ในฐานะที่เป็นประธานองค์การสหประชาชาติด้านการย้ายถิ่นฐานที่ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ ต้องการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการสร้างแผนนำร่องสุขภาพแรงงานต่างชาติ รวมทั้งการจัดบริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวหรือวันสต๊อปเซอร์วิส (One Stop Service) ด้านโรคต่างๆ เช่น วัณโรค มาลาเรีย และเอชไอวี ด้วย ทั้งนี้ไอโอเอ็มทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขไทยมาเป็นเวลานาน