ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.วชิระ’ เผย เขตสุขภาพ สธ.ที่ 12 ตั้งเป้าปี 2558 พัฒนาบริการสุขภาพ 6 สาขาหลักสอดคล้องพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้สุดของไทย ได้แก่ สาขาหัวใจ อุบัติเหตุ มะเร็ง อายุรกรรม ตา ไต ให้ประชาชนได้รับบริการที่ทั่วถึงเท่าเทียมและมีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทย

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมวิชาการประจำปีของเขตสุขภาพที่ 12 ประจำปี 2558 ซึ่งจัดที่โรงแรมลีการ์เด้น จังหวัดสงขลา ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เดินหน้าจัดระบบบริการสุขภาพ ในรูปของเขตสุขภาพ 13 เขตรวม กทม. ซึ่งการดำเนินงานของแต่ละเขตสุขภาพเป็นไปตามแผนและสอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ อย่างไรก็ดีเนื่องจากนโยบายนี้เป็นเรื่องใหม่ที่บุคลากรต้องปรับตัว เพื่อพัฒนาบริการประชาชน จึงให้แต่ละเขตสุขภาพมีการประชุมวิชาการ เพื่อให้บุคลากรภายในเขตสุขภาพได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ประสบการณ์ การพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ของแต่ละจังหวัด อาทิ งานรักษาพยาบาล งานบริการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค งานคุ้มครองผู้บริโภค  สามารถสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพเท่าเทียมกันตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรในเขตสุขภาพที่ 12 และจากเขตอื่นๆที่มีผลงานดีเด่น ในประเด็น หมอครอบครัว การดูแลตามกลุ่มวัย และการจัดบริการตามสาขาหลัก เช่น หัวใจ มะเร็ง อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด เป็นต้น ในเขตสุขภาพที่ 12 มี 7 จังหวัด ได้แก่ สตูลตรังพัทลุงยะลาปัตตานีนราธิวาสและสงขลา มีโรงพยาบาลศูนย์ 3 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 7 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 51 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 736 แห่ง ดูแลประชาชนประมาณ 4,730,753 คน นอกจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดแล้ว   สาเหตุการป่วยตายอันดับต้นๆของเขตนี้ได้แก่ มะเร็ง หัวใจ อุบัติเหตุ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิต เป็นต้น

ในปี 2558 เขตสุขภาพที่ 12 ตั้งเป้าพัฒนาการบริการใน 6 สาขาที่สอดคล้องกับพื้นที่ได้แก่ 1.สาขาหัวใจมีการรักษาโดยการให้ยาเปิดเส้นเลือดหัวใจคนไข้เส้นเลือดหัวใจตีบตัน โดยขณะนี้ทำได้ทุกอำเภอของ 5 จังหวัดยกเว้น พัทลุง และสตูล โดยจะเพิ่มให้เป็นทุกจังหวัดภายในปีนี้ นอกจากนี้จะขยายบริการเปิดคลินิกยาป้องกันโลหิตแข็งตัว ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปให้ครบทุกแห่ง

2.สาขาอุบัติเหตุ ได้พัฒนาทีมแพทย์ฉุกเฉิน และกำหนดมาตรฐานการดูแล ลดระยะเวลาการรอคอยการรักษาให้เร็วกว่าเดิม  และ 3.สาขามะเร็ง ให้มีการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มแรกให้ได้มากกว่าร้อยละ 80 เพื่อให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาที่ดีและมีโอกาสหายมากขึ้น 4.สาขาอายุรกรรมลดอัตราตายในผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดจากร้อยละ 60 เหลือร้อยละ 40 5.สาขาตา ผ่าตัดแก้ไขต้อกระจกระยะตาบอดได้ร้อยละ 60 6.สาขาไต โดยคัดกรองผู้ป่วยไตเสื่อมระยะแรกให้ได้ร้อยละ 80 เพิ่มศักยภาพการผ่าตัดเปลี่ยนไต สามารถผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นต้น