ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรัชตะ” สั่งการ สปสช. แก้ไข 7 ประเด็นตามที่ คตร.ตรวจพบใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์ให้แล้วเสร็จ 1 เดือน ตั้งคณะกรรมการพิจารณาตีความวัตถุประสงค์ของกฏหมายหลักประกันสุขภาพ และขณะรอตีความให้ชะลอการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ให้บริการกรณีได้รับความเสียหายจากการให้บริการผู้ป่วย พร้อมให้ สปสช.และ สป.สธ.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้เงินค่าเสื่อมของ 3 รพ.ในเขตสระบุรี และสั่งระงับการทำสัญญาใหม่กับมูลนิธิ ภาคเอกชนและภาคประชาชนไว้ก่อน จนกว่าจะมีการตีความกฏหมายให้ชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ สปสช. ดำเนินการตามการตรวจพบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทั้งหมด 7 ประเด็น ดังนี้

1.การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ ให้ สปสช.ชะลอการพิจารณาและการจ่ายเงินให้ผู้ให้บริการไปก่อน จนกว่าจะมีการตีความข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ชัดเจน

2.การใช้จ่ายเงินงบค่าเสื่อม ให้ สปสช.ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.)แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้จ่ายเงินค่าเสื่อม ของหน่วยบริการในเขตสระบุรี

3.กรณีการใช้งบบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ให้ สปสช.ระงับการทำสัญญาใหม่กับมูลนิธิ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มิได้เกี่ยวข้องกับการจัดระบบบริการสาธารณสุขโดยตรงไว้ก่อน จนกว่าจะมีการตีความข้อกฎหมาย ให้ชัดเจน

4.ให้ สปสช.เสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 18 (3) กำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยเร็ว

5.กรณีเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลนั้น ให้ สปสช.ดำเนินการไล่เบี้ยภายใต้มาตรา 42 ตามมาตรการที่ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. และสรุปผลการดำเนินการไล่เบี้ยตั้งแต่มีมาตรการดังกล่าว

6.ให้ สปสช.ระงับการจ่ายค่าตอบแทนโดยตรงให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้องและการผ่าตัดวางสายล้างช่องท้องจนกว่าจะมีการตีความข้อกฎหมายให้ชัดเจน

7.การจัดซื้อเวชภัณฑ์และเครื่องมือการแพทย์กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้ สปสช.ชี้แจงข้อเท็จจริงและดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนด

นพ.วินัย  สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ได้รับคำสั่งจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการตามประเด็นต่างๆ แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีความข้อกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ต่างกันระหว่าง บอร์ด สปสช. กับหน่วยงานด้านตรวจสอบ เช่น สตง. เป็นต้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้งบกองทุนช่วยเหลือผู้ให้บริการกรณีที่ได้รับความเสียหายขณะปฏิบัติงาน ยกตัวอย่างเช่น กรณีรถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยหนักถ้าเกิดอุบัติเหตุในระหว่างทาง ผู้ป่วยจะได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 สูงสุด ไม่เกิน 4 แสนบาท ส่วนผู้ให้บริการ เช่น แพทย์ พยาบาล คนขับรถ ตามกฏหมายโดยตรงจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ แต่บอร์ด สปสช.ได้มีมติตั้งแต่ปี 2546 ให้ออกประกาศโดยใช้อำนาจตามมาตรา 18 (4) ให้มีการช่วยผู้ให้บริการเหมือนช่วยผู้ป่วยเพื่อให้ระบบบริการสาธารณสุขเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจกันตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถ้ายกเลิกประกาศตามมติบอร์ด สปสช. เพราะตีความกฏหมายแบบแคบก็จะกระทบขวัญกำลังใจของหมอ พยาบาล และผู้ให้บริการอื่นๆได้

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทาง สปสช.ได้สั่งการให้ชะลอการดำเนินการเรื่องนี้และเรื่องอื่นไปก่อนแล้ว จนกว่าคณะกรรมการฯ ที่นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี จะตั้งขึ้น ตีความข้อกฏหมายให้แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดย สปสช. จะนำประเด็นต่างๆ เหล่านี้เข้าหารือในบอร์ดซึ่งจะประชุมในวันที่ 8 มิ.ย.นี้