ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.รุดตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร GERMINOK (เจอมิน็อค) ที่มีการนำสถานการณ์โรคเมอร์ส มาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างป้องกันเมอร์สได้ ด้วยการแถลงข่าวว่าช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ติดเชื้อโรคเมอร์ส เผย ไม่พบข้อมูลการอนุญาตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และอาจเข้าข่ายโฆษณาเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ย้ำ ผลิตภัณฑ์อาหารไม่สามารถกล่าวอ้างรักษาโรคได้ เตรียมดำเนินคดีกับผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย ที่กระทำผิดกฎหมาย มิให้หลอกลวงประชาชน พร้อมเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์อาหารที่อวดสรรพคุณรักษาโรคเด็ดขาด

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า หลังมีการรายงานข่าวจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์ เกี่ยวกับการแถลงข่าวของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอล จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.58 มีรายละเอียดสรุปว่า บริษัทฯ ได้เร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ GERMINOK เร็วกว่าเดิมเนื่องจากการระบาดของโรคเมอร์ส ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ติดเชื้อที่จะมีโอกาสหายจากโรคดังกล่าวได้ เพราะผลิตภัณฑ์นี้ช่วยกระตุ้นในการสร้างเม็ดเลือดขาวและสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ทุกชนิดนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เกรงประชาชนจะตกเป็นเหยื่อ ทำให้เสียเงินทองจำนวนมาก จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร GERMINOK(เจอมิน็อค) ทางเว็บไซต์ www.bimhcc.com และพบการแสดงคุณประโยชน์ของอาหาร มีข้อความ เช่นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร GERMINOK (เจอมิน็อค) เลขที่ อย. 51-1-20856-1-xxxx ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาติดเชื้อโรค เช่น ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบของอย. ปรากฏว่าไม่พบข้อมูลการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวแต่อย่างใดทั้งนี้ การที่บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอล จำกัด (มหาชน) ออกมาแถลงข่าวโฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร GERMINOK (เจอมิน็อค) ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนี้

1. หากตรวจการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร รวมทั้งมีการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

2. การโฆษณาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์และจากการแถลงข่าว ถือเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

3. การกล่าวถึงสรรพคุณของอาหารในลักษณะช่วยบำบัด บรรเทา รักษาโรค ซึ่งเป็นสรรพคุณทางยาโดยหากบริษัทฯ ไม่มีข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือมาพิสูจน์ยืนยันถึงสรรพคุณตามที่กล่าวอ้าง ถือเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.บุญชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ อย. ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการโฆษณาแล้ว และขอให้สื่อโฆษณาและเว็บไซต์อื่น ๆ ระมัดระวังอย่านำข้อความโฆษณาดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อเพราะอาจมีความผิดฐานโฆษณาเกินจริงได้ ขอย้ำว่าผลิตภัณฑ์อาหารไม่สามารถกล่าวอ้างรักษาโรค หรืออ้างว่ามีสรรพคุณทางยาได้ และข้อความโฆษณาอาหารที่มีการอวดสรรพคุณในทางยา หรืออวดสรรพคุณในการป้องกันบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค นั้น อย. ไม่อนุญาตให้โฆษณาแต่อย่างใด หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพใดที่คาดว่าผิดกฎหมายหรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจริง แจ้งร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือที่ Oryor Smart Application หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด