ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถูกคำสั่งย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏข่าวว่าไม่สนองนโยบายรัฐบาล

วันนั้น...กลุ่มหมอชนบท และภาคประชาชนเครือข่ายหลักประกันสุขภาพ สนับสนุนเต็มที่ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทำให้ระบบเป็นเอกภาพมากขึ้น เนื่องจากมองว่า นพ.ณรงค์คือต้นตอความขัดแย้งภายใน สธ. ระหว่างกลุ่มหมอโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเรื่องการบริหารงบประมาณ จนทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดสภาพคล่อง ! ซึ่งกลุ่มหมอชนบทได้ออกมาพูดมาตลอดว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อทำให้ระบบสุขภาพปั่นป่วน

จึงไม่แปลกที่เมื่อ นพ.ณรงค์ถูกย้าย ภาพการจับมือกันทำงานระหว่าง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัด สธ.คนที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ.แต่งตั้งขึ้น กับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.จึงปรากฏขึ้น

ในทางกลับกัน ประชาคมสาธารณสุข นำโดย นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ในฐานะประธานประชาคมสาธารณสุข นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานชมรม รพศ./รพท. และ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษา สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) และกลุ่ม รพศ./รพท. ก็ออกมาร้องว่า การย้ายครั้งนี้ไม่ชอบธรรม ยังไม่มีการชี้ว่า นพ.ณรงค์ มีมูลความผิดอะไรบ้าง แต่กลับมีการสั่งย้าย จนเกิดการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ทั้งสวมชุดดำ ขึ้นป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่างๆ

ล่าสุด ปัญหาใน สธ. คุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการล็อตใหญ่ ที่พัวพันเรื่องการทุจริต บริหารงานแบบไม่ชอบมาพากล

และ 1 ในนั้นมีชื่อ นพ.วินัย รวมอยู่ด้วย งานนี้ นพ.วินัย ถึงกับอึ้ง เพราะที่ผ่านมาแม้จะถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ก็ไม่เคยถูกชี้มูลว่าทุจริต แต่เป็นเรื่องการบริหารที่ตีความแตกต่างกัน

คำถามคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเอาคืนทางการเมืองหรือไม่ นพ.วินัย อาจตกเป็นเหยื่อ เพราะจริงๆ แล้วปัญหาการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเลขาธิการ สปสช. ที่เป็นเหมือนลูกจ้าง ต้องทำตามหน้าที่และมติของบอร์ด สปสช.ที่มีรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน

งานนี้ตัวจริงที่ต้องการปะทะ คือ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. แต่เมื่อไปไม่ถึง ผู้รับผิดชอบขั้นแรกคงหนีไม่พ้น นพ.วินัย นั่นเอง!

แต่ดูเหมือน นพ.รัชตะจะไม่พ้นวิกฤต เพราะล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการกล่าวหา นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.จงใจแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ

ทั้งนี้ นพ.รัชตะ ในฐานะประธาน สวรส. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับเลือก 3 คน คือ นพ.วิจารณ์ พานิช, นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ และ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นบุคคลที่เคยได้รับทุนวิจัยต่อเนื่องมาโดยตลอด และไม่มีการกลั่นกรองว่าบุคคลดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เรื่องนี้เป็นการเอาคืนการเมืองทั้งเลขาธิการ สปสช.และประธานบอร์ด สปสช. เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่หรือไม่ หรือต้องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่อย่างไร

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนการแลกกันทางการเมือง แต่กลับส่งผลต่องานระบบสุขภาพ เพราะมัวแต่ย้ายคนโน้นคนนี้

กรณี นพ.ณรงค์ มีข่าวหนาหูว่า นายกฯ อาจให้กลับมาทำงานที่ ปลัด สธ.ตามเดิม ก่อนจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ แต่อาจต้องแลกกับการปรับ ครม.โดยเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการ สธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.หรือไม่ ซึ่งเสี่ยงกับเรื่องการทำงานด้านสาธารณสุข เพราะปลัด สธ.และรัฐมนตรีว่าการ สธ.ทำงานด้วยกันไม่ได้ พอจับแยก สธ.ดูสงบขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็เริ่มคลี่คลาย แม้จะมีเสียงสนับสนุน นพ.ณรงค์อยู่ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าสิ่งไหนจะคุ้มค่ากว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่นายกฯ คนเดียว

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า ไม่ทราบว่ากรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของอะไร หรือมีเรื่องการเมืองเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การย้าย นพ.ณรงค์ไปประจำสำนักนายกฯ มองว่าถูกต้องที่สุด เพราะเป็นที่ทราบว่า ปลัด สธ.และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ทำงานด้วยกันไม่ได้ ปลัด สธ.ไม่เคยฟัง ไม่เคยปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา แบบนี้งานก็สะดุด

"ส่วนการย้าย นพ.วินัย เกี่ยวข้องกับกรณี นพ.ณรงค์ หรือไม่ นักข่าวถามผมเยอะว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันทางการเมืองหรือไม่ แต่ผมว่าในหลักการทำไม่ได้ หากเอาเรื่องการเมืองมาโยงกับระบบสุขภาพ โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดูแลคนไทยมากมายขนาดนี้ ระบบล่มแน่ๆ แต่ทราบเพียงว่ามีบุคคลใกล้ชิดนายกฯ อาจเสนอย้าย นพ.วินัยหรือไม่ เรื่องนี้ข่าวลือมาก ควรตรวจสอบว่าจริงหรือไม่"นพ.เกรียงศักดิ์ข้องใจ

นพ.เกรียงศักดิ์ บอกว่า นพ.วินัยปฏิบัติตามบอร์ด สปสช. หากจะเอาผิดกับตัวบุคคล ก็ต้องมาดูข้อมูลว่ามีการสอบสวนข้อเท็จจริง นพ.วินัย หรือไม่ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรากฏ แตกต่างจาก นพ.ณรงค์ ที่มีความผิดชัดเจน การสอบสวน นพ.ณรงค์ นั้น หากดูจากเนื้อหาการสอบสวนจะพบว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่เมื่อผลสอบออกมากลับเปลี่ยนประเด็นให้เป็นเรื่องของหน่วยงานระหว่างสำนักงานปลัด สธ. และ สปสช. อีกทั้งยังพบว่า นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการสอบสวนฯ กลับเสนอว่าให้สรุปผลการสอบสวนเป็นข้อแนะนำและไม่สรุปว่าผิดในส่วนใดบ้าง ทำให้กลายเป็นว่า นพ.ณรงค์ไม่มีความผิด จึงขอให้นายกฯ พิจารณา เพราะหาก นพ.ณรงค์ยังมีข้อกล่าวหา จะเกิดคำถามขึ้นมากมายและไม่สมควรให้กลับไปที่ สธ.

ขณะที่ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ในฐานะประธานประชาคมสาธารณสุขโต้แย้งว่า การที่แพทย์ชนบทออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะเลขาธิการ สปสช.ถูกย้าย ทีมนี้โยงใยกันอยู่ เรื่องการตรวจสอบนั้น ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ เหมือนกรณี นพ.ณรงค์มีการตรวจสอบแล้ว หากไม่ผิดก็ต้องให้ความเป็นธรรม

"ส่วนกรณี ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนรัฐมนตรีทั้ง 2 คนนั้น คงมีมูล ถ้าไม่มีมูล ป.ป.ช.คงไม่ตั้งสอบ แต่นักการเมือง ของประเทศไทยแตกต่างจากนักการเมืองต่างประเทศ ถ้านักการเมืองประเทศอื่นๆ ถูกตั้งกรรมการสอบป่านนี้จะลาออกเพื่อ แสดงสปิริตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกตรวจสอบด้วย ต้องรอผลการตรวจสอบ" นพ.สุทัศน์แจกแจง

ศึกความขัดแย้ง การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในกระทรวงสาธารณสุขยังคงคุกรุ่นต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 มิถุนายน 2558