ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน สังเกตอาการโรคมือ เท้า ปาก หลังปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 1.3 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นเด็ก 1-3 ปี สูงถึง 72% 

วันที่ 29 มิถุนายน 2558 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้โรคที่ต้องระมัดระวังในเด็กเล็กคือ โรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือศูนย์เด็กเล็กที่มีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -22 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 13,075 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็กเล็ก (อายุ 1-3 ปี) สูงถึง 72% ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีจังหวัดที่เสี่ยงต่อการระบาด 19 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุทัยธานี กำแพงเพชร พะเยา ตราด สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ชัยนาท ยโสธร หนองคาย อำนาจเจริญ เลย ระนอง สตูล กระบี่ ปัตตานี และพังงา

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส พบมากในทารกและเด็กเล็ก ติดต่อโดยการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย และอาจเกิดการไอ จาม รดกัน ติดต่อกันได้ง่ายโดยเฉพาะสัปดาห์แรก หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการเริ่มด้วย มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปากและเบื่ออาหาร มีแผลอักเสบ ที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม อาจเกิดตุ่มผื่นแดง ไม่คันที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น หรือหัวเข่า แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน

ส่วนการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก กรมควบคุมโรคขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนทุกวัน หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด ถ้าพบเด็กป่วยหรือสงสัย ต้องแยกเด็กป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก ออกจากกลุ่มเพื่อน โดยให้หยุดพักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ  ส่วนผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานได้โดยการรักษาสุขอนามัยของบุตรหลาน  ช่วยกันสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด  หากพบเด็กมีไข้ มีแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสที่มือ เท้า ควรให้เด็กหยุดเรียน รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

“ทั้งนี้โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ผู้ดูแลควรเช็ดตัวให้เด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด อย่างไรก็ตามโรคนี้มักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.โสภณ กล่าวปิดท้าย