ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.เจตน์’ ชี้ความวุ่นวายใน สธ.เป็นปัญหาโครงสร้าง และงบไม่พอ สปสช.ถือเงิน แต่ สธ.บริหารคน เป็นโครงสร้างที่แปลกและมีกระทรวงเดียว จึงเป็นที่มาข้อเสนอของ กมธ.สธ.ตั้ง "คกก.ยุทธศาสตร์สาธารณสุขแห่งชาติ" เพื่อเอกภาพบริหารจัดการ ระบุงบไม่พอกระทบคุณภาพบริการ หนีไม่พ้นต้องร่วมจ่าย แต่ต้องถกกันยาว เหตุมีผู้ไม่เห็นด้วยอีกมาก และต้องไม่ให้คนจนเดือดร้อนและถูกเลือกปฏิบัติ พร้อมเสนอแยกเงินเดือนจากงบรายหัวเพื่อให้รู้งบดำเนินการที่แท้จริง

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไดโพสต์ facebook เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.58 ระบุถึงความวุ่นวายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่ง นพ.เจตน์ชี้ว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาจากโครงสร้างและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ จากโครงสร้างที่มี สปสช.ถือเงิน และ สธ.บริหารคน จึงเป็นโครงสร้างที่แปลกและมีอยู่กระทรวงเดียวใน 20 กระทรวง แถมยังรวมเงินเดือนอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวด้วย ปัญหาจึงยิ่งมีมากขึ้น ซึ่งการทะเลาะกันของหน่วยงานทั้งสอง เป็นไปในลักษณะที่ ศ.นพ.ประเวศ เคยเปรียบเทียบว่าเหมือนไก่จิกตีกันในเข่ง รอเวลาที่จะถูกนำไปเชือดดังนั้นจึงเป็นมาของข้อเสนอจาก กมธ.สธ.ให้มี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์สาธารณสุขแห่งชาติ" เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการ

ส่วนปัญหาเรื่องงบประมาณนั้น นพ.เจตน์ระบุว่า การจัดสรรงบที่ไม่เพียงพอจะกระทบถึงคุณภาพบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นการยากที่สำนักงบฯ จะจัดสรรงบฯ ให้เพียงพอ ถ้าจะชะลอการเพิ่มขึ้นของงบประมาณ หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการร่วมจ่าย ซึ่งก็ต้องถกกันอีกยาวเพราะยังมีคนไม่เห็นด้วยอีกมาก ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการร่วมจ่ายโดยที่คนจนไม่เดือดร้อนและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้เห็นตัวเลขงบดำเนินการที่แท้จริงและช่วยแก้ปัญหา รพ.ขาดทุนซ้ำซาก เพราะมีประชาชนในพื้นที่จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ที่มี

“มีคนในระบบสาธารณสุขอีกมากที่พยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็เป็นเพียงข้อเสนอแก้ไขเพียงเล็กน้อย

ไม่มีใครคิดหรือกล้าที่จะปฏิรูปอย่างแท้จริง เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ปชช.สามารถเข้าถึงบริการชนิด "ผู้ใช้บริการพึงพอใจ ผู้ให้มีความสุข"ที่สำคัญคือทำให้คน ๒ ฝ่ายจับมือกันให้บริการ ปชช.ไม่ใช่เอาแต่ระแวง จงเกลียดจงชังกันเหมือนในปัจจุบัน ครับ”

ข้อความทั้งหมดมีดังนี้

-นายกฯ ออกคำสั่งย้ายปลัดฯ ณรงค์ ไปช่วยราชการสำนักนายกฯพร้อมกับตั้ง คกก.สอบสวน มีชมรม รพศ./รพท. ประชาคมสาธารณสุข ชมรมหมออนามัยกว่า ๑,๐๐๐ คนรวมตัวกันให้กำลังใจ

-ปปช.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุฯ ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาว่า รมว.และ รมช.สธ.จงใจแต่งตั้ง คกก.สรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน สวรส.ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและเร่งรัดการสรรหาโดยไม่ถูกต้อง

-หมอชนบทจี้นายกฯ ใช้ม.๔๔ สอบวินัยหมอณรงค์และพวก

ความวุ่นวายใน สธ.เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่มีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี ๒๕๔๕

ปชช.ทั่วไปและคนใน สธ.เองก็สงสัยว่าเกิดจากสาเหตุใด และอยากรู้ว่าจะเป็นไปอีกนานเท่าใด หรือจะจบอย่างไร
บอกได้ยาก แต่ที่แน่ๆ เชื่อว่าแก้ไขได้ไม่ง่ายเพราะเชื่อว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล แต่เกิดจากโครงสร้างและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ

โครงสร้าง…เกิดจาก พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ๒๕๔๕ ที่ตั้ง สปสช.โดยมี คกก.หรือบอร์ดเป็นผู้ถือเงินและบริหาร แต่กระทรวงหรือ สธ.ไม่ได้ถูกยุบไป ยังคงมีอยู่ตาม พรบ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ และ พรบ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ แม้รัฐมนตรี สธ.จะเป็น ปธ.ทั้ง ๒ องค์กร แต่รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจมากเหมือนในสมัยอดีตที่จะสั่งทั้งสองหน่วยงานได้ หน่วยงานทั้งสองซึ่ง สปสช.ถือเงิน แต่ สธ.บริหารคน จึงเป็นโครงสร้างที่แปลกและมีอยู่กระทรวงเดียวใน ๒๐กระทรวง แถมยังรวมเงินเดือนอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวด้วย ปัญหาจึงยิ่งมีมากขึ้น

ทำอย่างไรจะเกิดองค์กรเดียว ทำอย่างไรจึงจะเกิดเอกภาพในการบริหารจัดการ

เป็นที่มาซึ่ง กมธ.สธ.เสนอให้มี "คกก.ยุทธศาสตร์สาธารณสุขแห่งชาติ" นั่นเอง

งบฯ บัตรทอง ที่จ่ายต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ก่อนปี ๕๐ยังมีงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมาช่วยจุนเจืองบบัตรทอง แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ๕๐ออกมาแล้ว กรมบัญชีกลางเข้ามาควบคุมเพราะไม่สามารถเบิกจากเงินคงคลังได้ตามใจชอบอีก งบสวัสดิการฯ จึงถูกควบคุมอยู่ที่ ๖๐,๐๐๐ ลบ.ติดต่อกันมา ๘ ปีแล้ว ที่คุมได้เพราะข้าราชการต้องมีส่วนร่วมจ่ายมาโดยตลอด และถูกภาคประชาสังคมยกมาเป็นเหตุให้รวมกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ได้ดูความเป็นมาแต่อดีตที่ กม.เกิดคนละยุค และสวัสดิการข้าราชการเป็นการชดเชยให้กับข้าราชการที่เงินเดือนต่ำกว่าภาคเอกชน

การทะเลาะกันของหน่วยงานทั้งสอง เป็นไปในลักษณะที่ ศ.นพ.ประเวศ เคยเปรียบเทียบว่าเหมือนไก่จิกตีกันในเข่ง รอเวลาที่จะถูกนำไปเชือด

ด้วยวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบนี้ แบบที่สำนักงบให้น้อยไว้ก่อนแล้วเพิ่มเติมจากงบกลางให้ในปลายปี การจัดสรรงบฯที่ไม่เพียงพอจะกระทบถึงคุณภาพบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นการยากที่สำนักงบฯ จะจัดสรรงบฯ ให้เพียงพอ แม้จะเป็นการยากที่จะหาว่าตัวเลขเท่าใดจึงจะพอ แต่ก็พออนุโลมได้จากตัวเลขที่ สปสช.ขอไปในแต่ละปี

ถ้าจะชะลอการเพิ่มขึ้นของงบประมาณ หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการร่วมจ่าย ซึ่งก็ต้องถกกันอีกยาวเพราะยังมีคนไม่เห็นด้วยอีกมาก ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการร่วมจ่ายโดยที่คนจนไม่เดือดร้อนและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

รวมถึงการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้เห็นตัวเลขงบฯ  ดำเนินการที่แท้จริงและช่วยแก้ปัญหา รพ.ขาดทุนซ้ำซากเพราะมี ปชช.ในพื้นที่จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ที่มี

มีคนในระบบสาธารณสุขอีกมากที่พยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็เป็นเพียงข้อเสนอแก้ไขเพียงเล็กน้อย

ไม่มีใครคิดหรือกล้าที่จะปฏิรูปอย่างแท้จริง เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ปชช.สามารถเข้าถึงบริการชนิด "ผู้ใช้บริการพึงพอใจ ผู้ให้มีความสุข"

ที่สำคัญคือทำให้คน ๒ ฝ่ายจับมือกันให้บริการ ปชช.ไม่ใช่เอาแต่ระแวง จงเกลียดจงชังกันเหมือนในปัจจุบัน ครับ