ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ป่วย ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีพาณิชย์ ค้านบริษัทยาต่างชาติจดทะเบียนสิทธิบัตรยาแก้ไวรัสตับอักเสบซี หวั่นปล่อยผ่านทำราคาแพง ผู้ป่วยเข้าถึงยาก จี้พาณิชย์กำหนดยาเป็นสินค้าควบคุมต้องแจงต้นทุน ด้านพาณิชย์ยันการพิจารณาเป็นไปตามคู่มือปฏิบัติ

วันที่ 2 ก.ค.58 ที่กระทรวงพาณิชย์ กลุ่มประชาชนที่ติดตามปัญหาราคายาและสิทธิบัตร ประกอบด้วย 1.เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย 2.ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา 3.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ 4.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 5.มูลนิธิโอโซน 6.กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน 7.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 8.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เข้ายื่นหนังสือจี้กระทรวงพาณิชย์ เร่งจัดการระบบควบคุมราคายา พร้อมติดตามกรณีคำขอสิทธิบัตรยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยมีนางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ และ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มารับมอบหนังสือ

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมาผู้ป่วยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงการรักษา สาเหตุสำคัญคือยามีราคาแพง ยาเป็นสินค้าคุณธรรมที่ต้องมีการควบคุมราคา แต่ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ทำอะไร อ้างว่าทำไม่ได้ ทำได้ยาก ทั้งที่ประเทศมีกฏหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งมีการกำหนดกลไกในการควบคุมราคาสินค้าและบริการไว้ด้วย

“ขอเรียกร้องให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ กำหนดให้ยาเป็นสินค้าควบคุม ตามที่ได้ปฏิบัติกับสินค้าควบคุมอื่นๆ ที่ต้องมีการชี้แจงต้นทุน หากไม่มีความสามารถในการบังคับใช้กฏหมายนี้เพื่อควบคุมราคายา ขอให้กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำหน้าที่กำกับดูแลควบคุมราคายาแทนกรมการค้าภายใน” นายอภิวัฒน์กล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่มีกระบวนการที่เหมาะสมในการให้สิทธิบัตรยา กระบวนการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรขาดความรัดกุม และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบขาดความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเภสัชศาสตร์ หลายกรณีทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ยาจำนวนมากที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรกลับได้รับสิทธิบัตร ซึ่งได้มีความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ศึกษาวิจัยและพัฒนาคู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรยาจนสำเร็จ และประกาศใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 แต่ก็ยังไม่เห็นว่าได้มีการใช้คู่มืออย่างจริงจัง

“ปัญหาด้านการเข้าไม่ถึงยาของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เข้าใจหลักการที่จะทำให้ประชาชนต้องเข้าถึงยา จำเป็นก่อน ความขลาดของกระทรวงพาณิชย์ที่จำนนต่อบริษัทยา ออกสิทธิบัตรโดยง่ายในยาจำเป็นทั้งที่ไม่สมควรออก หรือการปล่อยให้ราคายาแพงจนเกินการควบคุม ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา ล้มตายทั้งที่มียารักษา แต่ไม่มีเงินจะซื้อ”

ด้านนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า “กระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. สิทธิบัตรดังนี้ (1) ต้องขยายระยะเวลาการยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรจาก 90 วันเป็น 1 ปีอย่างน้อย โดยผู้ยื่นต้องส่งข้อมูลเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วนและไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขเนื้อหาสาระหรือยื่นเอกสารเพิ่มเติม และต้องปรับลดระยะเวลาการยื่นขอตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ให้สั้นลง (2) ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญานำคู่มือตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรมาใช้พิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ อย่างเข้มงวดและไม่ละเว้นปฏิบัติ 
(3) นำข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรและสิทธิบัตร รวมถึงสถานะต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคำขอรับสิทธิบัตรนั้น ประกาศขึ้นเว็บไซต์หรือช่องทางอินเตอร์เน็ตอื่นๆ โดยที่สามารถเข้าถึงง่าย และเป็นปัจจุบัน

ทั้งนี้ทางกลุ่มเครือข่ายฯ ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งพิจารณาคำขอยาโซฟอสบูเวียร์ ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ที่กำลังเป็นปัญหา โดยเฉพาะขณะนี้มีหลายประเทศได้มีการยื่นคัดค้านคำขอยาดังกล่าว รวมทั้งมีการปฏิเสธคำขอไปแล้วในบางประเทศ โดยขอให้มีการเพิกถอนคำขอยาดังกล่าว หากไทยไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะเป็นการตัดโอกาสให้ผู้ป่วยจำนวนมากได้เข้าถึงยาจำเป็นดังกล่าว

ด้าน นางดวงกมล เจียมบุตร กล่าวถึงกรณียามีราคาแพงว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้มีการควบคุมราคายาแพงด้วยการกำหนดให้มีการติดป้ายราคายาแล้ว อย่างไรก็ตาม พร้อมที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุขชี้เป้าตัวยาที่ต้องควบคุมราคาเพราะจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า ส่วนกรณีคำขอสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญารับทราบปัญหาแล้ว

"กรมทรัพย์สินทางปัญญา อยู่ระหว่างพิจารณาตรวจสอบคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรยาดังกล่าว แต่ในระหว่าง ออกประกาศโฆษณา 90 วัน แต่ไม่มีผู้คัดค้าน แต่กรมฯได้เปิดให้กลุ่มประชาชน ยื่นข้อมูลคัดค้าน และจะนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการจดทะเบียนสิทธิบัตรดัวย" นางดวงกมล กล่าว

นางดวงกมลกล่าวต่อว่า การตรวจสอบสิทธิบัตรยาของกรมฯ เป็นไปตามคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรยาฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งเกิดจากการหารือร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิจัย นักวิชาการ ตัวแทนสิทธิบัตร และภาคประชาชน ซึ่งรวมถึงเครือข่ายองค์กรด้านเอดส์ โดยประกาศใช้เมื่อเดือน ก.ย.2556 และปัจจุบันผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมฯ ได้ใช้คู่มือดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติในการตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตรของไทยมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพมากขึ้น และสร้างความสมดุลและเป็นธรรม เพราะผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบของทุกฝ่าย