ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากประเด็นการตีความวิจัยของ TDRI เกี่ยวกับอัตราการตายของผู้ป่วยทั้ง 2 กองทุนระหว่าง กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดย ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ที่พาดพิงถึงวิธีการจ่ายเงินให้ผู้จัดบริการ (Provider) ที่แตกต่างกัน และการบังคับให้รักษาตามแนวมาตรฐานกลาง(Guidelines or Protocol) เพื่อควบคุมการสั่งยา กับการปล่อยให้ผู้จัดบริการสั่งยาได้อย่างอิสระตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งการจัดบริการทางสุขภาพนั้นเป็นบริการเฉพาะด้าน เป็นสินค้าสาธารณะ (Public goods) ที่มีความต่างจากสินค้า หรือการจัดบริการอื่นๆ เป็นตลาดมีความไม่สมมาตรของสารสนเทศ (Market with Asymmetric information) คือมีความไม่เเท่ากันของข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ป่วย กับแพทย์ผู้ให้การรักษา ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่าง ว่าถ้าเรามีกองทุนที่ทุกคนร่วมจ่ายจากภาษี หรือจ่ายแบบล่วงหน้าก็ตามร่วมกันได้ 10,000,000 บาท แล้วนำมารักษาโรคมะเร็งชนิดหนึ่งใช้ยา A ราคา 100,000 บาท มีประสิทธิภาพการรักษาหายประมาณ  90%  ยา B ราคา 10,000 บาท มีประสิทธิภาพการรักษาหายประมาณ 70% เราควรตัดสินใจเลือกยาอะไรเพื่อให้งบประมาณในกองทุนช่วยเหลือประชาชนได้มากที่สุดตามหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ที่สรุปไว้ตามตาราง

ถ้าคิดแบบมองคนไข้เฉพาะรายที่เรารักษาอยู่โดยไม่สนใจค่าใช้จ่ายย่อมจะเลือกยา A แต่ถ้ามองเชิงระบบถึงภาพร่วมของคนไข้ทั้งหมด และเงินกองทุนที่มีอยู่ ก็จะเลือก ยา B เพราะช่วยคนได้มากกว่าประมาณ 510 คน ถ้าต้องการให้ได้ใช้ยา A ก็ต้องเพิ่มรายรับของกองทุน หรือไปต่อรองให้ลดราคายาลงมาด้วยกลวิธีต่างๆ หรือให้คนไข้ร่วมจ่าย ซึ่งผู้ที่มีฐานะยากจนก็จะเข้าไม่ถึงการรักษา หรืออาจกำหนดเกณฑ์ในการเปลี่ยนแผนการรักษาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและมีข้อมูลการวิจัยที่มีมาตรฐานรองรับออกมา นอกจากนี้ผู้ที่มารับการรักษาก็ยังมีปัจจัยร่วมในการมีชีวิตยืนยาวอีกมากมาย เช่น ระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา ปัจจัยสุขภาพอื่นๆ เช่น ภาวะโภชนาการ โรคประจำตัว สิ่งแวดล้อมต่างๆ ของผู้ป่วย อุปสรรค เช่น ค่าใช้จ่าย ระยะทาง เวลาในการเดินทางมาพบแพทย์ เป็นต้น

ดังนั้นการวิเคราะห์งานวิจัยต่างๆ นั้นควรมองอย่างรอบด้าน และยึดหลัก ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีหลักสามประการ ตามภาพประกอบ ดังนี้

1.การมีเหตุผลที่มีองค์ความรู้ ที่รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจ

2. การพอประมาณ ยึดทางสายกลาง ไม่ฟุ้งเฟ้อ

3. การมีภูมิคุ้มกัน ที่ถึงพร้อมด้วยปัญญา และคุณธรรม ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนส่วนตนเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆสู่ความยั่งยืน

ดังนั้นการมีมาตรฐานแนวทางการรักษากลางที่ร่วมจัดทำจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้มีการรักษาที่มีคุณภาพ ที่มีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ร่วมถึงกลวิธีอื่นๆ ตามกระบวนการย่อยของต้นทุนการจัดบริการตั้งแต่ การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุ้มป้องกันโรคที่กระจายอำนาจ และยึดโยงกับบริบทท้องถิ่นชุมชน การควบคุมต้นด้านยาที่มีมาตรการต่อรองกับอำนาจทุนที่เข้มแข็งเหมาะสม การจัดซื้อร่วมจากกองทุนผู้ซื้อบริการ (Purchaser) เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง การกำหนดมาตรฐานการรักษากลางตามที่กล่าวไปแล้ว และการเก็บข้อมูล เพื่อนำมาคำณวนต้นทุนการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อไปสู่เป้าหมายการมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือไม่ให้คนล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล ไม่ต้องขายไร่ ขายนา สิ้นเนื้อปะดาตัว มารักษาโรค และการมีสุขภาพที่ดีของคนไทยที่ต้องมีเรียนรู้ปรับตัวได้ตามบริบทที่ทุกฝ่ายร่วมเป็นเจ้าของด้วยจิตสาธารณะที่ตื่นรู้ มีปัญญาควบคู่คุณธรรม

นพ.พรเทพ  โชติชัยสุวัฒน

แหล่งข้อมูล

จี้ สปสช.เลิกซื้อ 'ยา-เวชภัณฑ์' เหมาโหล

ความไม่แน่นอนกับตลาดสุขภาพ

ทีดีอาร์ไอยันงานวิจัยผลลัพธ์สุขภาพไม่ใช่ความลับ แนะไม่ควรตีความเกินผลศึกษาที่มีอยู่

ความไม่สมมาตรของสารสนเทศ