ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพพยาบาลยืนยันเดินหน้าชุมนุมทำเนียบรัฐบาล 7 ก.ค.ตามกำหนดการเดิม ไม่เกี่ยวเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างฯ เลื่อนชุมนุม พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 5 ประเด็นถึง นายกฯ หัวหน้า คสช. เลขาธิการ ก.พ. คปร.และ ปธ.คกก.เงินเดือนแห่งชาติ 1.บรรจุ ขรก.รอบ 3 โดยเร็ว 2.ค่าตอบแทนเป็นธรรม แจงรายงาน คกก.วิสามัญพิจารณาเงินเดือนเคยมีความเห็นถึงนยกฯ ว่าพยาบาลได้รับความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือนจริง เห็นควรเยียวยาแก้ไข 3.สวัสดิการทำงานเสนอตั้งกองทุนทดแทนเพื่อพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากบริการ 4.ความก้าวหน้าในวิชาชีพ และ 5.การปรับโครงสร้างเปิดโอกาสให้พยาบาลดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดได้

นส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย หารือกับตำรวจความมั่นคง ตรวจสอบวัตถุประสงค์การเข้ายื่นร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล 7 ก.ค.นี้ (ขอบคุณภาพจาก Facebook/สหภาพพยาบาลฯ)

สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ยืนยันเดินหน้าชุมนุม 7 กรกฎาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาลตามกำหนดการเดิม เวลา 09.00 น. โดยใน Faceboook/สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย มีการเผยแพร่ข้อความระบุว่า วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 เวลา 09.00 น. พร้อมกันหน้าทำเนียบรัฐบาล สหภาพพยาบาล ฯ มาเพื่อพิทักษ์สิทธิ์พยาบาลทั่วประเทศและผู้รับบริการ

ขอเน้นย้ำว่า "งานนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง หรือเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่ง อย่าเอาเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเรามาเพราะเดือดร้อนจริงๆ วอนผู้ใหญ่ในบ้านเมือง โปรดเห็นใจ" ส่วนกรณีแถลงการณ์เครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขที่เลื่อนการชุมนุมวันที่ 7 ก.ค.ออกไปก่อนนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับสหภาพพยาบาลฯ สหภาพพยาบาลฯ ยืนยันเดินหน้าชุมนุมในวันที่ 7 ก.ค.เหมือนเดิม

พร้อมกับแถลงการสหภาพพยาบาลฯ ฉบับที่ 4/2558 เรื่อง ขอเรียกร้องการบรรจุพยาบาลวิชาชีพทุกตำแหน่ง มีกองทุนทดแทนจากภาครัฐและแก้ไขความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือน โดยระบุข้อเรียกร้อง 5 ประเด็น ดังนี้

1.การบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการ เรียกร้อง คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เห็นชอบการบรรจุข้าราชการรอบ 3 โดยเร็ว

2.ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

3.สวัสดิการในการทำงาน สืบเนื่องจากพยาบาลได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข เสนอตั้งกองทุนทดแทน ให้รัฐจัดงบประมาณสมทบในฐานะนายจ้างแก่ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐให้เกิดความคุ้มครอง

4.ความก้าวหน้าในวิชาชีพ ขอร้องทุกข์ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เป็นการเยียวยา สร้างขวัญกำลังใจ และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการโดยเฉพาะตำแหน่งประเภทวิชาการ

5.การปรับโครงสร้างให้พยาบาลสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในหน่ยงานสาธารณสุขทุกระดับได้

“สหภาพพยาบาลฯ ขอเชิญชวนพี่น้องพยาบาล พร้อมกันยื่นหนังสือถือ นายกรัฐมนตรี, หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), เลขาธิการ ก.พ., คปร., ประธานคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องการบรรจุให้พยาบาลวิชาชีพทุกตำแหน่ง ให้มีกองทุนทดแทนจากภาครัฐช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐเพื่อคุ้มครองการทุพลภาพและเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการทำงาน และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือน ในวันที่ 7 ก.ค.58 ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 9.00 น. แต่งกายชุดพยาบาล”

ขณะเดียวกันยังได้มีการโพสต์ข้อเรียกร้องกรณีปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือน โดยระบุว่า เพื่อเสนอหนังสือร้องทุกข์แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจากเพดานเงินเดือน 1.ขอเยียวยาย้อนหลังไป ตั้งแต่ 11 มกราคม 2551 2.ขอปรับฐานค่ากลางย้อนหลังไปทุกครั้ง ที่มีการปรับฐานเงินเดือน 3.ขอปรับปรุงบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญให้เทียบเท่า หรือเทียบเคียงบัญชีข้าราชการประเภทอื่นในระดับเดียวกัน ที่มีบัญชีสูงกว่า โดยให้ข้อมูลว่า มีรายงานของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.เงินเดือน ที่ได้เคยให้ความเห็นไว้ต่อนายกฯ ว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำจริง

และได้มีความเห็นให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเยียวยา ปรับปรุงแก้ไข ซึ่งรายงานดังกล่าว มีน้ำหนักที่จะทำให้เกิดการเยียวยา และปรับปรุงบัญชีเงินเดือนสูงมาก ขอให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ผนึกกำลังกัน เพื่อการนี้ แกนนำทุกกลุ่มของข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการนานเป็นพิเศษ ขอให้แต่ละท่านช่วยแชร์ และร่วมขับเคลื่อนดังกล่าว และรวบรวมรายมือชื่อ ส่งให้แกนนำแต่ละจังหวัด ก่อนวันที่ 7 ก.ค.58

ด้าน รศ.สมจิต แดนสีแก้ว คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะนายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า จากการหารือกับสหภาพพยาบาลฯ ยังคงยืนยันจะไปเรียกร้องตามเดิม เนื่องจากเรื่องนี้ต้องแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ1.กลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่เรียกร้องเรื่องการบรรจุข้าราชการ และ 2.กลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานเป็นข้าราชการ แต่ไม่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งกลุ่มนี้ยังคงต้องการเรียกร้องอยู่ และจะไปที่ทำเนียบรัฐบาล