ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่า 14,000 รายต่อปี และมีกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีถึง 6 ล้านคนต่อปี มข.จัดงานกระตุ้นประชาชน ตระหนักถึงภัยร้ายมะเร็งท่อน้ำดี ให้สามารถป้องกันโรคและได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.พวงรัตน์ ยงวณิชย์

รศ.ดร.พวงรัตน์ ยงวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี และหัวหน้าโครงการวิจัยการประยุกต์ใช้ตัวบ่งชี้ชีวภาพเพื่อตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในแหล่งระบาดของพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CASCAP) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้วาระ “มหาวิทยาลัยขอนแก่น 50 ปีแห่งการอุทิศเพื่อสังคม” ร่วมกับ โครงการวิจัยการประยุกต์ใช้ตัวบ่งชี้ชีวภาพเพื่อตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในแหล่งระบาดของพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนช้าง ได้จัดงาน วาระอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดี กับมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีสัญจร ครั้งที่ 22 โดยทำการตรวจปัสสาวะ และอัลตร้าซาวด์ กลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ให้ตระหนักรู้ถึงอันตรายของโรคมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่า 14,000 รายต่อปี และมีกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีถึง 6 ล้านคนต่อปี ให้สามารถป้องกันโรคและได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้การจัดงานที่ตำบลดอนช้างยังเป็นการตรวจคัดกรองและติดตามผลกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 200 ราย ซึ่งได้รับการตรวจคัดกรองเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และครั้งนี้เป็นการตรวจครั้งที่ 3 กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ได้เข้าร่วมกับโครงการวิจัยการประยุกต์ใช้ตัวบ่งชี้ชีวภาพ เพื่อตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในแหล่งระบาดของพยาธิใบไม้ตับ จ.ขอนแก่น ในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี

รศ.ดร.พวงรัตน์ กล่าวอีกว่า ผลวิจัยพบว่าตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พบผู้ติดพยาธิใบไม้ตับมากที่สุดในจังหวัด  ซึ่งจากการตรวจร่างกายของชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยงพบความขุ่นขาวหรือพังผืดที่เกิดจากการอักเสบและซ่อมแซมตนเองของท่อน้ำดี เราเรียกว่าภาวะการเป็นพังผืดบริเวณท่อน้ำดี (periductal fibrosis) ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้โดยการทำอัลตร้าซาวด์  เพื่อลดภาระของรังสีแพทย์ และชาวบ้านทั่วไปเข้าถึงการอัลตร้าซาวด์ได้ยาก จึงมีความคิดหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่ตรวจได้จากเลือดหรือปัสสาวะเป็นการคัดกรองเบื้องต้นก่อน สาเหตุที่เลือกพื้นที่ตำบลดอนช้างซึ่งเป็นพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัย ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงเนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โดยทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่อาจพัฒนาเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งมีโอกาสพบโรคในระยะเริ่มต้นและจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมีโอกาสหายขาดได้

นางทองแสน ซ้ายขวา

นางทองแสน ซ้ายขวา อายุ 64 ปี บ้านดอนหญ้านาง หมู่ 7 ต.ดอนช้าง สามีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 กล่าวว่า โครงการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาจัดงานวาระอีสานต้านภัยมะเร็งท่อน้ำดี กับมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีสัญจร เป็นประโยชน์ทำให้ชาวบ้านอย่างมาก ทำให้ชาวบ้านได้ตรวจสุขภาพฟรี และให้ความรู้ สร้างความตระหนัก ความใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น เป็นการจัดงานที่มีคุณค่ามาก  “อยากให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาบริการชาวบ้านแบบนี้ทุกปี  เพราะบางทีรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงมีการบริโภคปลาดิบ แต่เมื่อสามีเสียชีวิต รวมทั้งได้รับข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เลิกกินปลาดิบ และใส่ใจดูแลสุขภาพ กระทั่งเดินทางมาตรวจคัดกรองโรคมะเร็งท่อน้ำดีในวันนี้ด้วยตนเอง  ขอบคุณที่ภาครัฐไม่นิ่งดูดาย ช่วยเหลือชาวบ้าน” 

โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยอุบัติขึ้นมานานแล้วร่วม 100 ปี และเป็นที่ทราบกันดีว่ามีสาเหตุเกิดจากการรับประทานปลาน้ำจืดมีเกล็ดแบบสุก ๆ ดิบ ๆ ที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ปลาน้ำจืดเหล่านี้มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ ตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับนี้จะชอนไชและเจริญเติบโตในท่อน้ำดี มีชีวิตอยู่ได้นานถึง 20 ปี ทำให้ท่อน้ำดีเกิดการอักเสบเรื้อรังและกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด