ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) แสดงให้เห็นว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทและประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตตัวเมืองในหลายพื้นที่ทั่วโลก มีความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่แตกต่างกันอย่างมาก 

นครเจนีวา (ILO News) : จากรายงานฉบับล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบททั่วโลกกว่าร้อยละ 56 ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขมูลฐานที่จำเป็นได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในเขตตัวเมืองจากทั่วโลกซึ่งเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขราวร้อยละ 22 นั่นหมายความว่าประชากรในเขตชนบทไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในสัดส่วนที่มากกว่าประชากรในเขตตัวเมืองถึงสองเท่าตัวเลยทีเดียว  

จากรายงาน “หลักฐานระดับโลกเกี่ยวกับการป้องกันความไม่เท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุขชนบท :  ข้อมูลใหม่ของความด้อยโอกาสในชนบทด้านความครอบคลุมของบริการด้านสาธารณสุขใน 174 ประเทศ” ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันอย่างชัดเจนในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระหว่างคนชนบทและคนเมืองในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา  

สำหรับภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรในชนบทซึ่งเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขมูลฐานที่สูงที่สุดก็คือ "ทวีปแอฟริกา" ซึ่งมีประชากรในกลุ่มนี้สูงถึงร้อยละ 83  ทั้งนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตที่ว่า  ประเทศที่ประสบกับปัญหาความครอบคลุมของบริการสาธารณสุขในเขตชนบทมักจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความยากจนที่รุนแรงเช่นกัน  นอกจากนี้ ความแตกต่างกันอย่างมากของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในเขตชนบทและเขตตัวเมือง ยังปรากฏให้เห็นในประเทศแถบเอเชียด้วย  ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอินโดนีเซีย  ซึ่งประชากรชนบทที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขมูลฐานมีสัดส่วนที่สูงกว่าประชากรในเขตตัวเมืองถึงสองเท่า

“บริการสาธารณสุข คือ สิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนในประเทศจะพึงมีพึงได้” อิซาเบล ออร์ทิซ , ผู้อำนวยการแผนกความคุ้มครองทางสังคม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ

"เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่การลงทุนด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ จนในที่สุดได้ทำให้เกิดการปล่อยปละละเลยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ชนบท และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านคนจำนวนมหาศาลตามมา ทั้งๆ ที่บริการสาธารณสุข คือ สิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนในประเทศจะพึงมีพึงได้” อิซาเบล ออร์ทิซ ผู้อำนวยการแผนกความคุ้มครองทางสังคม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว

ขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตชนบท

จากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศพบว่า ถึงแม้สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมจะมีกฎหมายรองรับ แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทก็ยังคงถูกละเลยและไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ราวกับว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้ในพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัย 

สถานการณ์ต่างๆ ยิ่งเลวร้ายขึ้น เมื่อพื้นที่ในเขตชนบททั่วโลกกำลังขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งๆ ที่ประชากรโลกมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ แต่ในปัจจุบันกลับมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่ได้รับการจัดสรรอัตรากำลังให้ไปทำงานในเขตชนบท จากประมาณการณ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขราวๆ 10.3 ล้านคน แต่แค่เฉพาะในส่วนของเขตชนบททั่วโลกก็ต้องการเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีกถึง 7 ล้านคนเลยทีเดียว 

แอฟริกาและละตินอเมริกา คือสองภูมิภาคที่ประสบปัญหาความไม่ครอบคลุมของบริการสาธารณสุขระหว่างเขตชนบทและเขตตัวเมืองที่รุนแรงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไนจีเรีย ประชากรในชนบทมากกว่าร้อยละ 82 ถูกกีดกันออกจากระบบบริการสาธารณสุขเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่เพียงพอ ในขณะที่ประชากรในเขตตัวเมืองของประเทศนี้เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขราวร้อยละ 37

ทั้งนี้ การสนับสนุนด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอมีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่พร้อมในการให้บริการเป็นอย่างยิ่ง จากผลการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า ในพื้นที่ชนบทนั้น พบปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างในการจัดสรรงบประมาณที่สูงกว่าในเขตตัวเมืองถึงเกือบสองเท่าตัว และจากการสำรวจยังพบด้วยว่า ประเทศในแถบแอฟริกา คือพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุด ในขณะที่ประเทศในแถบเอเซียและละตินอเมริกาเองก็ถูกสำรวจพบความไม่เท่าเทียมกันอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ในพื้นที่ชนบทได้ถูกกำหนดเพดานของอัตราการจัดเก็บเงินสมทบจากประชาชนเมื่อมาใช้บริการสาธารณสุข (out-of-pocket payments : OOPs) ไว้สูงมาก ซึ่งจากผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ประชากรในชนบทของทวีปแอฟริกาและเอเซียต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินสมทบเมื่อมาใช้บริการสูงถึงร้อยละ 42 และร้อยละ 46 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดตามลำดับ และในพื้นที่ชนบทของหลายๆ ประเทศในเอเซีย ทั้งแอฟกานิสถาน บังคลาเทศ  กัมพูชา และศรีลังกา ยังมีการจัดเก็บเงินสมทบจากผู้ป่วยในอัตราที่สูงกว่าในเขตตัวเมืองราว 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว

ซีเนียร์ ไซเอล แอดลุง ผู้ประสานงานด้านนโยบายสาธารณสุขขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า "ความคุ้มครองตามกฎหมายที่ไม่ครอบคลุม จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ การขาดแคลนเงินทุนและงบประมาณด้านสาธารณสุข รวมถึงอัตราการจัดเก็บเงินสมทบที่สูง ได้ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในหลายๆ ประเทศ"

"การสร้างความเข้มแข็งทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานในระบบสาธารณสุขมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการปฏิรูปไปสู่​​การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งให้ความคุ้มครองสุขภาพของประชาชนทุกคน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ชนบท กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพคือสิ่งจำเป็นที่ยังมีความครอบคลุมไม่เพียงพอ การบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนทุกคนที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษา สามารถเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพได้โดยเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่ไม่แพงจนเกินความสามารถที่จะจ่าย"

ลดช่องว่าง

ผลการศึกษาดังกล่าวยังได้ให้ข้อชี้แนะเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ชนบท จำเป็นต้องอาศัยวิธีการที่ครอบคลุมและเป็นระบบ โดยดำเนินงานไปพร้อมๆ กับการจัดการเรื่องสิทธิที่ขาดหายไป เรื่องบุคลากรด้านสาธารณสุข งบประมาณ ความคุ้มครองด้านการเงิน และคุณภาพในการให้บริการ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียมกันที่ครอบคลุม อีกทั้งยังต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันระดมเงินอุดหนุน  บนพื้นฐานของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขร่วมกัน

"การรับมือกับปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน จำเป็นต้องพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะของประชากรในชนบท ร่วมกับอัตราความยากจน และความคุ้นเคยเป็นกันเองกับชุมชนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนผ่านจากการให้บริการแบบการกุศล ไปเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ จำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกๆ ด้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและลดอัตราการจ่ายเงินสมทบลง เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการวางนโยบายในการส่งเสริมการจ้างงานในตลาดแรงงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม" ไซเอล แอดลุง กล่าว

การศึกษานี้ยังย้ำถึงบทบาทหลักของหน่วยงานระดับประเทศที่ดูแลการสร้างฐานการคุ้มครองทางสังคม (social protection floors) ในการลดและประเมินช่องว่างระหว่างพื้นที่ชนบทกับตัวเมืองตามหลักสิทธิมนุษย์ชน โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อเสนอแนะว่าด้วยฐานการคุ้มครองทางสังคม 2555 (ฉบับที่ 202) ซึ่งที่ประชุมแรงงานระหว่างประเทศได้ให้การรับรอง   

"การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชนบทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขของประเทศนั้น ใช้งบประมาณที่ไม่มากและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ การก้าวไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการได้รับความคุ้มครองด้านสาธารณสุขมูลฐานที่ครอบคลุมนั้น สามารถเป็นไปได้จริงไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนก็ตามโดยที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงระดับรายได้ของประชาชนในประเทศเลย" นางออร์ทิซ กล่าวสรุป