ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบการส่งกลับผู้ป่วย เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 4 พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย ลดปัญหาเตียงเต็ม ลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างความร่วมมือในรูปแบบหน่วยบริการแม่ข่าย เพื่อให้เกิดเครือข่ายการส่งต่อ-ส่งกลับอย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 4 สระบุรี เพื่อทบทวนบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนให้เกิดระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เหมาะสม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนพัฒนาระบบส่งต่อในพื้นที่ ให้มีศักยภาพ และให้มีการประเมินผลการส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี เป็นประธานคณะกรรมการ นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี ชี้แจงวัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ มีผู้บริหาร รพศ. รพท. รพช. และหัวหน้าศูนย์ประสานการส่งต่อ ในฐานะคณะกรรมการฯเข้าร่วมกว่า 30 คน เมื่อ 4 มิถุนายน 2558 ณ ห้องประชุม สปสช.เขต 4 สระบุรีที่ผ่านมา

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า การพัฒนาระบบรับส่งต่อ-ส่งกลับผู้ป่วย เป็นมาตรการหนึ่งในการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ ที่ สปสช.ร่วมกับเครือข่ายบริการสุขภาพ ซึ่งเน้นการส่งกลับ  ส่วนใหญ่เป็นการส่งกลับเพื่อการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ  โดยการจัดบริการสุขภาพที่มีความครอบคลุม มีคุณภาพได้มาตรฐาน การจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยเมื่อเกินศักยภาพของหน่วยบริการและการส่งกลับเพื่อดูแลต่อเนื่องจำเป็นต้องวางระบบที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยบริการแต่ละระดับ  ประกอบกับปัจจุบันปัญหาความไม่พร้อมของโรงพยาบาลขนาดเล็ก ปัญหาการฟ้องร้อง ทำให้มีการส่งต่อผู้ป่วยมากขึ้น เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยบริการที่รับส่งผู้ป่วย เกิดปัญหาระหว่างผู้ให้บริการ เกิดปัญหาไม่มีเตียงรับผู้ป่วย เกิดความแออัด ต้องใช้เวลาในการติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาเตียงรับผู้ป่วยนาน ส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล

สปสช.เขต 4 สระบุรี จึงร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบการส่งกลับผู้ป่วย เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 4 พัฒนากลไกทางการเงินเพื่อกระตุ้นให้มีการส่งกลับ และสร้างแรงจูงใจให้สถานพยาบาลและผู้ให้บริการให้บริการแก่ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมากยิ่งขึ้น  ซึ่งอาจต้องมีการจัดกลุ่มโรคและวิธีการจ่ายเงินด้วยวิธีใหม่แยกออกมาจากวิธีที่ใช้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบัน โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้  1.หน่วยบริการมีการดำเนินการในการส่งกลับผู้ป่วย 2.เกิดกลไกทางการเงินสนับสนุนให้มีการส่งผู้ป่วยกลับ โดยเป็นอัตราการจ่ายที่เหมาะสมซึ่งหน่วยบริการทั้งรับและส่งกลับยอมรับ 3.เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีที่สุด ใกล้บ้าน ใกล้ใจ และ 4.เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ ส่งผลให้มีการส่งต่อผู้ป่วยเฉพาะทางได้สะดวกขึ้น

นพ.ชลอ กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกการจัดสรรงบประมาณตามงบประมาณใน ปี 2558 จากมติ อปสข. ครั้งที่ 2/2558 วันที่ 1 ธันวาคม 2557 วาระเพื่อพิจารณา ที่ 5.1.2 การบริการผู้ป่วยใน กรณีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการส่งผู้ป่วยกลับ ปี 2558 มติที่ประชุม อนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท มติที่ประชุม อปสข. ทราบ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2558 เพื่อกระตุ้นการส่งผู้ป่วยกลับ และการมีข้อมูลการส่งผู้ป่วยกลับที่สมบูรณ์ 

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ประธานคณะกรรมการ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2558 จะมีการเปลี่ยนกลไกการจัดสรรงบประมาณ โดยดูข้อมูลทั้งหมดของการส่งต่อ การส่งต่อนอกเขต ในเขต กลุ่มโรคที่มีการส่งต่อมาก ทั้งนี้ในภาพการส่งต่อของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. เน้นการส่งต่อภายในเครือข่ายเดียวกันก่อน  เมื่อเกินศักยภาพจึงจะส่งต่อไปยังนอกสังกัด และเอกชนตามลำดับ โดยการวิเคราะห์ข้อมูล สปสช. จะทำหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูลในเขต นอกเขต และเอกชน  ส่วนการโอนงบลงหน่วยบริการแม่ข่าย เช่นเดียวกับจังหวัดสระบุรี เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีการสร้างเครือข่ายการส่งต่อ ส่งกลับภายในจังหวัดที่เกื้อหนุนกัน อย่างไรก็ตามกลไกทั้งหมดนั้นจะพิจารณาหลังจากเห็นข้อมูล 2 ไตรมาสในการประชุมต่อไป.