ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยกลุ่มเกษตรกรไทย ป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มสูงขึ้น 4 เท่า ถึงขั้นเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เร่งสร้าง 4 พฤติกรรม อ่าน-ใส่ -ถอด -ทิ้งใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย พร้อมจัดคลินิกดูแลสุขภาพเกษตรกรที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดูแลใกล้ชิด ขณะนี้เปิดบริการแล้วร้อยละ 19

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนทุกวัย ทุกอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรมีปัญหาที่น่าห่วงที่สุด จากความเสี่ยงใช้วัตถุเคมีทางการเกษตรในการเพิ่มผลผลิตหรือกำจัดศัตรูพืช สอดคล้องข้อมูลล่าสุดในปี 2555 ไทยนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ 134 ล้านกว่ากิโลกรัม สารเคมีที่นำเข้ามากที่สุดคือ สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง สารป้องกันและกำจัดโรคพืช

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2553 มีผู้ป่วย 1,851 ราย เพิ่มเป็น 8,066 รายในปี 2555 เวลาเพียง 2 ปีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงกว่า 4 เท่าตัว ทั้งนี้ผลกระทบต่อสุขภาพจากใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระยะเฉียบพลัน เช่น แสบตา แสบมือ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ท้องเสีย แน่นหน้าอก หายใจขัด และผลระยะยาว ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังเรื้อรัง  อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหมันหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการป้องกันผลกระทบสุขภาพเกษตรกรทั่วประเทศ ได้มอบสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังตรวจคัดกรองสุขภาพเกษตรกรที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช หากพบว่าผิดปกติ รีบให้คำแนะนำการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยทันท่วงที ไม่ต้องรอให้มีอาการป่วยก่อน พร้อมตั้ง “คลินิกสุขภาพเกษตรกร” ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นสถานที่คุ้นเคย อยู่ใกล้ เข้าถึงสะดวก เพื่อดูแลสุขภาพเกษตรกรร่วมกับผู้นำชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดความเสี่ยงเกิดโรคในกลุ่มเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ในปี 2557 เปิดบริการแล้วร้อยละ 19 จะเร่งขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรทุกแห่ง

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำคำแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัยแก่เกษตรกร มี 4 วิธีง่ายๆ คือ อ่าน-ใส่-ถอด-ทิ้ง คือ 1.อ่านฉลากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก่อนใช้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 2.ใส่อุปกรณ์เครื่องมือป้องกันอันตรายจากสารเคมีขณะทำงานเช่น เสื้อผ้ามิดชิดรัดกุมหน้ากาก ถุงมือ ถุงเท้า เป็นต้น 3.ถอดชุดและอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ขณะฉีดพ่นหรือทำงาน แยกซักจากเสื้อผ้าอื่นๆ แล้วรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และ 4.ทิ้งผลิตภัณฑ์บรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ถูกต้อง คัดแยกออกจากขยะทั่วไป ให้อยู่ในกลุ่มขยะอันตราย ทิ้งให้ห่างไกลจากแหล่งน้ำป้องกันการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต จัดระบบเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเกษตรกรในชุมชน ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ โดยจัดทำคู่มือการจัดบริการอาชีวอนามัย (คลินิกสุขภาพเกษตรกร) เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลสุขภาพเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง ผลการดำเนินในปี 2557 พบเกษตรกร มีระดับสารกำจัดศัตรูพืชในร่างกายอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยร้อยละ 34 กลุ่มนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและติดตามอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะปลอดภัย