ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรัชตะ” เผยบอร์ด สปสช. แต่งตั้ง หมอประทีป รองเลขาธิการสปสช. เป็น รักษาการเลขาธิการ สปสช. พร้อมรับทราบข้อสรุปตีความกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ จาก คกก. 3 ชุด มีตัวแทนจากอัยการสูงสุด กฤษฎีกา กรมบัญชีกลาง สำนักงบ สธ. องค์กรต้านคอรัปชั่น อดีตรองผู้ว่า สตง. หลัง คตร.มีผลสอบ สปสช.พบใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ได้ผลสรุป รพ.ใช้เงินรายหัวเป็นค่าใช้จ่ายประจำได้ สปสช.นำเงินส่งเสริมสุขภาพสนับสนุนหน่วยงานอื่นได้ รพ.นำงบส่งเสริมสุขภาพไปใช้ในโครงการต่างๆ ตามระเบียบเงินบำรุงได้ ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้ทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการคุณภาพ สปสช.ไม่ได้ผูกขาดซื้อยา เพราะซื้อผ่าน อภ. และไม่เคยได้รับเงินส่วนลดหรือค่าตอบแทน แต่ได้เป็นเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ที่ อภ.พิจารณา

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ประชุมได้รับทราบผลการตีความข้อกฎหมายและสอบ สปสช.ของคณะกรรมการ 3 ชุด ที่พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต่อเนื่องหลังจากที่ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่พบการทุจริต แต่พบการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ นั้น คณะกรรมการทั้ง 3 ชุด มี คณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี มี ผู้ตรวจการอัยการ จากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ชุดที่ 2 เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพิจารณาเรื่องการใช้เงินค่าเสื่อม มีผู้ตรวจ สธ.เป็นประธาน ชุดที่ 3 เป็นคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์จากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ มี นพ.อุทัย สุดสุข อดีตปลัด สธ.เป็นประธาน กรรมการ เช่น เลขาธิการองค์กรต้านคอรัปชั่น อดีตรองผู้ว่า สตง.เป็นต้น

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ได้ข้อสรุปที่สำคัญ เช่น รพ.สามารถนำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำในกิจการของ รพ.ได้ ไม่ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ รพ.สามารถนำเงินค่าเสื่อมไปใช้ซ่อมแซมบำรุงครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่เสื่อมสภาพ หรือเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ดังเดิมจากการให้บริการสาธารณสุขได้ และ สปสช.สามารถนำเงินส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นดำเนินการได้ ซึ่งเป็นไปเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพ รวมถึง รพ.สามารถนำงบส่งเสริมสุขภาพไปใช้ในโครงการต่างๆ ตามระเบียบเงินบำรุงได้ และไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อกองทุน หรือทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทางการแพทย์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่า การที่ สปสช.จัดซื้อยาฯ ไม่ได้เป็นการผูกขาด เนื่องจากมีการเห็นชอบเป็นมติจากบอร์ด สปสช.โดยมอบอำนาจให้ สปสช.จัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เท่านั้น และจัดซื้อเท่าที่จำเป็น โดยเน้นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และคณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า สปสช.ไม่เคยได้รับส่วนลด หรือค่าตอบแทน จากการจัดซื้อยาฯ จาก อภ. แต่เงินที่ได้รับจาก อภ.เป็นเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ อภ.จ่ายให้ตามระเบียบ การจะได้รับเงินต้องทำโครงการเสนอให้ อภ.พิจารณาว่าจะให้การสนับสนุนหรือไม่ สปสช.มีหน้าที่เสนอให้ อภ.พิจารณาเท่านั้น ซึ่งเงินจำนวนนี้ ตามระเบียบกำหนดว่า ร้อยละ 80 ใช้เพื่อสนับสนุน รพ.รัฐ อีกร้อยละ 20 ใช้สำหรับพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า มีประเด็นเดียว คือ การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข คณะกรรมการฯ เห็นว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ยังไม่มีความชัดเจนว่า บอร์ด สปสช.จะออกหลักเกณฑ์ดำเนินการเรื่องนี้ได้หรือไม่ จึงควรมีการแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายฉบับอื่น เพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการได้ และในระหว่างรอการแก้ไขกฎหมายนี้ เสนอให้ สปสช.ขออนุมัติต่อบอร์ดใช้งบบริหารของ สปสช.จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการไปก่อน ในกรณีที่ได้รับความเสียหาย

“จากผลการดำเนินการทั้งหมด ได้มีการนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และความเข้าใจที่ถูกต้อง จะมีการนำเสนอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ด สปสช.ยังได้มีมติแต่งตั้ง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. เป็นรักษาการเลขาธิการ สปสช.ด้วย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ