ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จับตาวาระ ครม. 7 ก.ค. หลัง ก.คลังเสนอพิจารณาอนุมัติ ร่าง พ.รบ.จัดซื้อจัดจ้างฯ หวั่นสอดไส้เอื้อประโยชน์ธุรกิจต่างชาติ หลังดำเนินการไม่โปร่งใส แต่ไม่เปิดรับฟังความเห็น แม้กับ สธ.ที่ไม่มีความเห็นประกอบการพิจารณาใน ครม. แถมยกเว้นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

วันนี้ (7 ก.ค.) กระทรวงการคลังจะยื่นเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. และอนุมัติถอนร่างพระกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.... เพื่อกำหนดกรอบการปฏิบัติงานการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามแนวทางสากล เพื่อเป็นมาตรฐานกลางสำหรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ให้เกิดความคุ้มค่า ป้องกันปัญหาทุจริต

ต่อเรื่องนี้ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) แสดงความกังวลว่า ร่างกฎหมายนี้ ไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็น มีเพียงการรับฟังวงจำกัดในตัวร่างเก่า แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ถูกส่งตัวร่างให้ส่งความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.วันนี้
“เราเข้าใจว่า พ.ร.บ.นี้มุ่งหมายที่ทำให้เกิดความโปร่งใส่ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ทั้งนี้เนื้อหาของกฎหมายต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยในประเทศไทย เพราะจะเปิดทางให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาประมูลแข่งขันตั้งแต่วงเงิน 200,000 บาทขึ้นไป ยิ่งไปกว่านั้นหากต้องการทำให้เกิดความโปร่งใสควรรวมไปถึงการเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่ามีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือซื้อมาแล้วไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้ใช้งานอยู่หลายๆ กรณี" นางสาวกรรณิการ์

อนึ่ง จากรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการข้อเสนอผลกระทบจากการเจรจา Thai-EU FTA ที่มีผลต่อการจัดหายาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดทำโดย กพย. ตั้งข้อสังเกตประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างที่พึงพิจารณา 5 ประการดังนี้

1.โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของต่างประเทศที่ต้องเปิดให้ผู้ประกอบการของประเทศคู่ภาคีสามารถเข้าร่วมประมูลต้องเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง แต่ของไทยไม่จำกัดวงเงิน (นั่นหมายความว่าต่างประเทศเข้ามาร่วมประมูลในประเทศไทยได้ง่าย แต่ไทยไปร่วมประมูลโครงการในต่างประเทศยาก)

2.สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว แต่มีเรื่องคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งหากกำหนดคุณภาพหรือเทคนิคของพัสดุตามประเทศที่มีมาตรฐานการผลิตที่สูงมาก หรือมีเทคโนโลยีการผลิตที่สูงมากก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศเสียเอง เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายได้หรือหากจะทำให้มีคุณภาพที่เทียบเท่าจะต้องลงทุนที่สูงกว่า

3.ยังมีปัญหาด้านการจัดเก็บข้อมูลสถิติด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ และครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ เพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม

4.ยังไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบ (monitoring) ผลการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐว่าได้ดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ตามกฎระเบียบหรือไม่อย่างไรเช่น ไม่มีกลไกในการติดตามการประกาศข่าวประกวดราคา และการเปิดเผยผลการประกวดราคา

5.หน่วยงานรัฐจำนวนมากโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่รับผิดชอบด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจำเป็นต้องมีการยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ด้านวิชาชีพ มีข้อบังคับด้านจริยธรรม (code of conduct) และมีการพัฒนาเส้นทางอาชีพ (career path) นอกจากนี้ หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขนาดเล็ก ยังขาดความสามารถในการตรวจสอบภายในองค์กร (internal audit) ที่มีประสิทธิภาพ.

สำหรับที่มาที่ไปของเรื่องสืบเนื่องจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังมีร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... (จากเดิมมีแนวคิดที่จะยกระดับจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นพระราชกฤษฎีกาเท่านั้นโดยมีร่างพระราชกฤษฎีกา 29 ตุลาคม 2550) และมีการรับฟังความเห็น 2 ครั้ง (26 ธ.ค. 57 และ 2 ก.พ. 58) ทั้งนี้ นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้ชี้แจงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้ ร่างพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ กำหนดกรอบการปฏิบัติงานอย่างกว้างๆเพื่อเป็นมาตรฐานกลาง สำหรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐเป็นมาตรฐานเดียวกัน ยังเป็นหลักประกันในการปฏิบัติราชการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

นักลงทุนต่างประเทศต้องการอยากให้รัฐบาลออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด เพื่อให้เกิดความมั่นใจเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการเข้าร่วมประมูลการลงทุนในโครงการต่างๆของทุกส่วนราชการ เพราะปัจจุบัน การจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการจะดำเนินการผ่านระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรี และในส่วนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งก็จะมีระเบียบจัดซื้อเป็นของตัวเอง แต่ต่อไป จะมีกฎหมายเฉพาะเพื่อเป็นมาตรฐานกลางในการจัดซื้อจัดจ้างของทุกหน่วยงานภาครัฐ โดยจะใช้กับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการ ส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์การ มหาชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยในการกำกับของรัฐ หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง  เว้นแต่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ที่มีลักษณะการผลิตหรือจำหน่าย หรือบริการเพื่อหารายได้ การดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์ และการบริการทางทหารโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล และการดำเนินการโดยใช้เงินกู้และเงินช่วยเหลือ ที่สัญญาหรือข้อกำหนดในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ในส่วนของบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิดในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐบาลทหารต้องการให้มีบทลงโทษถึงบุคคลที่เป็นผู้สั่งการระดับสูงสุด เพราะปัจจุบัน กระบวนการลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดนั้น มักจะสาวไม่ถึงผู้ที่สั่งการ กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับโทษมักจะเป็นข้าราชการระดับล่างๆ เท่านั้น ทั้งนี้ บทลงโทษ ในร่างกฎหมายกำหนดว่า กรณีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้โดยมิชอบ เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พระราชบัญญัตินี้โดยทุจริต ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดนั้น หากกระทำความผิดนั้น เกิดจากการ สั่งการ หรือไม่สั่งการของผู้มีอำนาจหน้าที่ รับผิดชอบในการดำเนินเรื่องนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้น ต้องรับโทษเป็นสองเท่าของความผิด ที่กำหนดไว้