ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” ชี้ “โครงการอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะ” กระแสสังคมตอบรับรอบด้าน หลังทดลองตั้งบูธขาย รพ.จุฬาฯ 8 เดือน เผย รพ.-หน่วยงานสนใจขอขยายตั้งบูธ ขณะที่มีผู้ประกอบการสนใจ ร่วมผลิตอาหารส่งขาย พร้อมเพิ่มเมนูอาหารว่าง-อาหารกล่องเสริมระหว่างประชุม ย้ำหวังเป็นโครงการต้นแบบ มุ่งลดความเสี่ยง สร้างสุขภาพที่ดีให้ประชาชน หวังดึงผู้ประกอบการอาหารสนใจและผลิตอาหารสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึง     

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายพหุสาขาวิชาชีพเพื่อการดำเนินการจัดทำอาหารสุขภาพพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat Healthy Foods) หรือ “โครงการอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะ” ว่า ภายหลังจากที่ได้เริ่มดำเนินโครงการอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา และได้เปิดบูธขายอาหารสุขภาพพร้อมรับประทานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “กินดี อยู่ดี” ซึ่งได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เครือข่ายผู้ป่วย และเครือข่ายพหุสาขาวิชาชีพเพื่อการดำเนินการจัดทำอาหารสุขภาพพร้อมรับประทาน  มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลและต้องการอาหารที่มีประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมถึงบุคลากรที่ต้องการดูแลสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาอาหารที่จำหน่ายในโรงพยาบาลมีแต่ร้านเบเกอรี่ ฟาสฟูด ซึ่งมีสายป่านยาวเข้าจองพื้นที่ขาย ส่งผลให้ผู้ป่วยนอกที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลมีทางเลือกจำกัด ปรากฎว่าไม่เพียงแต่ได้รับการตอบรับทั้งจากผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล โดยแต่ละวันสามารถจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ดำเนินโครงการนี้ ปรากฎว่าได้มีผลที่ดีตามมาหลายเรื่อง คือ 1.ในแง่ของธุรกิจอาหาร เริ่มผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดกลาง เห็นโมเดลการจำหน่ายอาหารสุขภาพที่มีผู้นิยมทานและมองว่าเป็นช่องทางการตลาดได้ มีติดต่อขอร่วมผลิตเมนูสุขภาพเพื่อฝากจำหน่ายในโครงการ จึงได้ขอให้ผู้ประกอบการส่งเมนูมาพิจารณาและคำนวณสารอาหาร เพื่อดูว่ามีเมนูใดที่สามารถทำได้หรือต้องมีการปรับอย่างไร พร้อมกับทำการตรวจสอบสถานที่ ความปลอดภัยในการผลิต วัตถุดิบและระบบจัดส่ง ซึ่งหากเมนูใดที่ผ่าน ก็จะมีการนำเข้ามาทดลองจำหน่าย

2.ในแง่ของการขยายสถานที่จำหน่วย ขณะนี้มี รพ.ใน กทม.อย่างน้อย 2-3 แห่ง ได้เริ่มให้ความสนใจการเปิดพื้นที่ขายอาหารสุขภาพให้กับผู้ป่วย เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ตอบรับเนื่องจากต้องการผลักดันให้โครงการที่ รพ.จุฬาฯ เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้นก่อน นอกจากนี้ยังได้รับการติดต่อจากหน่วยงานพื้นที่ซึ่งไม่ใช่กลุ่ม รพ.ให้ความสนใจ อย่าง สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้ขอเข้าดูงานที่ รพ.จุฬาฯ โดยเดินทางมาพร้อมกับ สปสช.เขต 4 สระบุรี และ 17 เครือข่ายผู้ป่วย ซึ่งได้มีการร่วมพูดคุย และมีการวางแผนโมเดลที่น่าสนใจ ซึ่ง สปสช.จะขอให้โครงการฯ เปิดบูธอาหารสุขภาพที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติที่มีข้าราชการและบุคลากรในหลายหน่วยงานทำงานอยู่หลายพันคน เป็นทางเลือกให้กับคนรักสุขภาพ  นอกจากนี้ยังอาจร่วมกับเครือข่ายผู้ป่วยด้วยการให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ปกติมาขายอาหาร ช่วยสร้างรายได้และยังสามารถแนะนำเมนูอาหารสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคได้    

และ 3.ขยายการเข้าถึงอาหารสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเริ่มจัดทำอาหารกล่องที่เป็นเมนูอาหารว่างและอาหารกลางวันในการประชุม โดยเริ่มจัดทำส่งในการประชุมของคณะแพทย์ จุฬาฯ เนื่องจากที่ผ่านมาอาหารว่างในการประชุมส่วนใหญ่จะเป็นชา เบเกอรี่ต่างๆ ซึ่งบางคนประชุมเช้าบ่ายทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ จึงได้รับการติดต่อและอยากให้โครงการจัดทำอาหารว่าง รวมไปถึงอาหารกลางวันให้กับผู้เข้าร่วมประชุม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้มีการจัดทำอาหารว่างเพื่อสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับด้วยดี

ต่อข้อซักถามว่า หากมีการขยายโครงการเพิ่มขึ้น มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตจะรองรับการผลิตอาหารสุขภาพได้หรือไม่ ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า เราไม่ได้อยากเป็นเจ้าเดียวที่ทำ ซึ่งการจัดทำโครงการอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะก็เพื่อต้นแบบและทำให้เห็นเท่านั้น โดยหวังให้มีการขยายเครือข่ายอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตพร้อมเป็นพี่เลี้ยงเพื่อทำให้เกิดโมเดลนี้ขึ้น เพียงแต่ในแต่ละจังหวัดอาจต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับเมนูอาหารท้องถิ่นและความชอบของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้กินอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตที่เป็นอยู่เดิม

“จากที่เปิดบูธจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพที่ รพ.จุฬาฯ และประสบผลสำเร็จ ทำให้ร้านอาหารใน รพ.เริ่มมองเห็นและเริ่มที่จะหันมาทำเมนูเพื่อสุขภาพกันบ้าน ถือเป็นเรื่องที่ดี และโครงการนี้ ผมมองว่าเป็นเหมือนกับการปลูกป่าที่อยากให้ทุกคนมีส่วนช่วยกัน เพราะเราไม่ได้ต้องการทำและเติบโตจนเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร แต่เป็นการทดลองเพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน” ผศ.นพ.ธีระ กล่าวและว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่ากระแสของคนรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่แต่เฉพาะผู้ป่วย แต่คนทั่วไปก็สนใจ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงอาหารสุขภาพนี้ได้ ซึ่งโครงการนี้ได้พยายามตอบโจทย์เรื่องนี้  

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า นอกจากนี้โครงการอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะยังได้รับความสนใจจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร อย่างบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ที่นำเสนอภาชนะที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้บรรจุอาหารในโครงการ โดยได้มีการปรับแก้เพื่อให้สามารถบรรจุอาหารไทยได้ ที่มักจะมีส่วนประกอบของน้ำและน้ำมัน สะท้อนให้เห็นว่าผลที่เกิดจากโครงการไม่ได้มีแต่เฉพาะด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย