ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระยะนี้อากาศแปรปรวน เดี๋ยวอากาศร้อนเดี๋ยวฝนตก อากาศเย็น พ่อแม่และผู้ปกครองคงต้องให้การดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษ  เพราะภัยร้ายอย่างปวดบวมอาจจะมาเยือนถ้าไม่ทันระวัง โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็ก เป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้ความสามารถในการทำงานของทางเดินหายใจลดลง เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยรุนแรง บางครั้งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อย อายุต่ำกว่า 1 ปี  มีโรคขาดอาหาร โรคเรื้อรัง หรือความพิการแต่กำเนิด จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับหนึ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ในแต่ละปีจะมีเด็กทั่วโลกที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบปีละ 2.4 ล้านคน ทีเดียว

สาเหตุของโรคปอดอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อ ซึ่งพบได้ทั้งการเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย มักจะมีอาการเริ่มต้นโดยเป็นหวัดก่อน 2-3 วัน ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อรา พยาธิ หรืออาจเกิดจากการแพ้ การระคายเคืองต่อสารที่สูดดมเข้าไป ซึ่งเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ เข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี เช่น การสูดหายใจเอาเชื้อโรคที่มีอยู่ในอากาศเข้าไปโดยตรง การสำลัก การกระจายของเชื้อตามกระแสเลือดไปสู่ปอด เด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยการสูดสำลักเอาเชื้อก่อโรคที่อยู่บริเวณคอเข้าไปในหลอดลมส่วนปลายหรือถุงลม เชื้อเกิดการแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบตามมา

พญ.พนิดา ศรีสันต์

พญ.พนิดา ศรีสันต์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยโรคปอดอักเสบแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค โดยที่ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส มักมีอาการไข้หวัดก่อนนำมาก่อนสัก 2-3 วัน  ได้แก่ ไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ ตามมาด้วยอาการ หายใจลำบาก หายใจเร็ว จมูกบาน ส่วนมากอาการไม่รุนแรง อาจดีขึ้นได้เอง อัตราการเสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อแบคทีเรีย

การสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคปอดบวมอยู่ในภาวะป่วยหนักหรือรุนแรง จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ  ไม่ยอมกินนมหรือน้ำ ซึมมากปลุกตื่นยาก หายใจมีเสียงดัง หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม มีอาการขาดน้ำ ค่าความเข้มข้นออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะป่วยหนักควรรับการรักษาในโรงพยาบาล

พญ.พนิดา กล่าวว่า แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค ในเด็กที่ป่วยเป็นปอดบวมในระยะแรก หรือไม่รุนแรง ควรพาไปรับการรักษาจากแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะและให้มาดูแลที่บ้านเช่นเดียวกับโรคหวัด จากนั้นแพทย์อาจนัดมาดูอาการเป็นระยะ ขณะรักษาตัวที่บ้านให้ดูแลทั่วไป คือ กินอาหารตามปกติ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อน กินยาตามแพทย์สั่ง หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบนำไปตรวจซ้ำหรือไปตรวจตามแพทย์นัด ส่วนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้และเช็ดตัวลดไข้ เคาะปอดเพื่อระบายเสมหะออก ให้ออกซิเจน ยาขยายหลอดลม ยาขับเสมหะ กระตุ้นให้ดื่มน้ำอุ่นช่วยระบายเสมหะ ให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดในผู้ป่วยบางราย ส่งเสริมการพักผ่อนนอนหลับ เพื่อลดปริมาณการใช้ออกซิเจนในร่างกาย และบางครั้งอาจให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคกลุ่มอาการไข้หวัดและปอดบวมจะเหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค โดยไม่ควรให้เด็กใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยทุกประเภท หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่แออัด เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีควรดูแลที่บ้าน ไม่ควรส่งไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก และถ้าเด็กมีอาการไอ จาม มีน้ำมูกควรพิจารณาใช้ผ้าปิดปากและจมูก ควรทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ

2. มีอนามัยส่วนบุคคล โดยฝึกหัดให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ไม่ขยี้ตาหรือจมูก และควรดูแลความสะอาดของบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นหวัดและปอดบวมได้ง่าย คือ การอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่,    บ้านที่ใช้ฟืนหุงต้มอาหารและมีควันในบ้าน เช่น ควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์

3.เพิ่มความต้านทานโรค ควรให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้อาหารครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ   ที่สำคัญควรนำเด็กทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามมาตรฐานกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนเสริมบางชนิดที่ช่วยลดการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ได้แก่ วัคซีนไอพีดี ซึ่งจะป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลในปีนั้นๆ

4.ผู้เลี้ยงดูเด็กควรรู้จักอาการแรกเริ่มของโรคปอดบวม และควรนำมาพบแพทย์ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง