ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.ออกกฎเข้ม ลดปัญหาการใช้ยาแก้แพ้ แก้ไอ ในทางที่ไม่เหมาะสม เหตุวัยรุ่นและเยาวชน นำยาแก้ปวดผสมกับยาน้ำเชื่อมแก้แพ้แก้ไอ มาเสพ เพื่อหวังฤทธิ์มึนเมา อย.จึงได้ออกประกาศกำหนดให้มีการจำกัดจำนวนการจำหน่ายและการกระจายยา และกำหนดให้รายงานการขายยา เพื่อสามารถติดตามเฝ้าระวัง ป้องกันการรั่วไหลออกนอกระบบ และเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ยายิ่งขึ้น

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบกลุ่มวัยรุ่น เยาวชน มีพฤติกรรมนำยาแก้ปวดผสมกับยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอ มาเสพ เพื่อหวังฤทธิ์มึนเมา เคลิบเคลิ้ม บั่นทอนสุขภาพ ซึ่งสร้างปัญหาสังคมในวงกว้างโดยจากการจับกุมผู้กระทำผิดที่ผ่านมาพบว่า ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ แก้ไอทุกรายการที่มีผลให้ง่วงซึม เป็นของกลางในการกระทำผิด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการมาตรการในการจัดการปัญหาจากเบาไปหาหนัก อย่างเป็นขั้นตอน โดยคำนึงถึงการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน ควบคู่กับการควบคุมสถานการณ์ปัญหา รวมทั้งประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในระยะแรกได้ดำเนินการป้องปรามและขอความร่วมมือจาก

ผู้ประกอบการฯ แต่สถานการณ์ปัญหากลับไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้น อย.จึงได้ออกประกาศกำหนดให้มีการจำกัดจำนวนการจำหน่ายและกระจายยากลุ่มนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ กำหนดให้รายงานการขายยา เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศ สำหรับติดตามและเฝ้าระวังการรั่วไหลของยาเหล่านี้ออกนอกระบบสาธารณสุข ตั้งแต่วัตถุดิบทางยาจึงถึงยาสำเร็จรูป รวมทั้ง กำหนดให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการร้านขายยา จะต้องจัดทำบัญชีการขายยากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ โดยระบุชื่อ สกุล ผู้ซื้อ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการจ่ายอย่างสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ โดยกระบวนการจัดทำประกาศฯ เหล่านี้ ได้ผ่านการมีส่วนร่วมในการยกร่างจากคณะทำงานฯ ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบถ้วน และผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เหมาะสมแล้ว โดยสามารดาวน์โหลดประกาศฯ ได้จากเว็บไซด์ สำนักยา อย. นอกจากนี้ อย. ได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานประกอบการด้านยา ตั้งแต่การนำเข้าเภสัชเคมีภัณฑ์ไปจนถึงการผลิต และขายยาสำเร็จรูปที่มีความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า การจัดทำบัญชีขายยา (แบบ ข.ย. 11) เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการแก้ปัญหา โดยกฎหมายฉบับเดิม กำหนดให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องทำบัญชีการขายยาอันตรายทุกรายการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 แต่ในขณะนี้ อย. ได้ปรับปรุงกฎหมาย โดยกำหนดให้ทำบัญชีการขายยาเพียงบางรายการเท่านั้น แต่มีรายละเอียดของการจัดทำบัญชีที่มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการป้องปรามการนำยาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม โดยมีการขอ ชื่อ-สกุล ของผู้ซื้อ และแยกทำรายงานตามครั้งและรุ่นการผลิตของยา (LOT.) ที่ร้านขายยารับยานั้นๆ เข้ามาขาย เพื่อง่ายในการติดตาม สามารถสืบย้อนกลับได้