ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ไทยโพสต์ : “นักกฎหมาย” ต้านร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ตั้งสภาประกันสุขภาพฯ ชี้ประเด็นไม่ให้สิทธินายกฯ ประธานสภาฯ รวมทั้ง รมว.ที่เกี่ยวข้องในฐานะกรรมการบอร์ด มีสิทธิ์มีเสียงลงมติเรื่องต่างๆ ด้าน “อัมมาร” ยันผลักดันต่อ เพราะมีเจตนารมณ์ทำให้การบริหารงาน 3 กองทุนเท่าเทียมกัน ส่วนนายกฯ และ รมว.ที่เป็นบอร์ดต้องทำหน้าที่แค่กลั่นกรอง แต่ไม่ถือว่าถูกลิดรอนอำนาจ เหตุไปตัดสินใจในชั้น ครม.ได้อยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายสุกฤษฎิ์ กิติศรีวรพันธุ์ ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งขึ้น เพื่อตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือรวมการบริหารกองทุนสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เข้าด้วยกัน ว่า โดยหลักการแล้วไม่ควรมีการรวม 3 กองทุน เพราะที่มาที่ไปของแต่ละกองทุนแตกต่างกัน และไม่ควรอ้างเรื่องความเหลื่อมล้ำในสิทธิ์การได้รับบริการของแต่ละกองทุนที่แตกต่างกันมาตั้งสภาฯ ตามที่มีการกล่าวอ้างในบทสุดท้ายของร่าง พ.ร.บ. .... เพราะการแก้ไขความเหลื่อมล้ำสามารถทำได้โดยอำนาจของแต่ละกองทุนอยู่แล้วโดยการบริหารจัดการที่ดี

ทั้งนี้ จากการศึกษาตัวร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พบว่าค่อนข้างแปลก เพราะในส่วนของคณะกรรมการที่ระบุให้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มี รมว.การคลัง รมว.แรงงาน และ รมว.สาธารณสุข และ ผอ.สำนักงบประมาณแผ่นดิน เป็นกรรมการนั้น แต่กลับห้ามบุคคลเหล่านี้ลงมติในเรื่องต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกมาก ทั้งๆ ที่นายกฯ ถือเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน แล้วตามหลักกฎหมายใหม่จะออกมาเพื่อเป็นการยกเลิกกฎหมายเดิม ดังนั้นกฎหมายใหม่ที่ออกมาเป็นการยกเลิกการใช้อำนาจของนายกฯ หรือไม่ นอกจากนี้ยังไม่มีสัดส่วนของแพทยสภา หรือราชวิทยาลัยต่างๆ อยู่ด้วย เท่ากับว่าไม่สามารถออกความเห็นทางด้านวิชาการได้เลย

ด้าน ศ.อัมมาร สยามวาลา ประธานคณะทำงานประสาน 3 กองทุนสุขภาพ กล่าวว่า ยังยืนยันว่าจะต้องผลักดันเรื่องนี้ให้ออกมาให้ได้ เพราะถ้าอ่านกฎหมายดีๆ นี่ไม่ใช่การรวมกองทุนสุขภาพ แต่สภาประกันสุขภาพฯ จะเป็นร่วมกันทำงานโดยมีฐานะเท่าเทียมกัน ส่วนกรณีที่ไม่ได้ให้อำนาจนายกฯ รมว.การคลัง รมว.แรงงาน รมว.สาธารณสุข และ ผอ.สำนักงบประมาณแผ่นดิน ในฐานะที่เป็นกรรมการในการพิจารณาลงมติต่างๆ นั้น เพราะว่าสุดท้ายแล้วนายกฯ ก็ยังเป็นผู้ตัดสินใจอันดับสุดท้ายในชั้นคณะรัฐมนตรีอยู่ดี และนโยบายหรือเรื่องต่างๆ นั้น คณะกรรมการได้มีการกลั่นกรองข้อมูล ผลดี-ผลเสียอย่างรอบคอบไปเสนอแล้ว

“แน่นอนว่าคนที่ผลักดันเรื่องนี้มากคือ สปสช. แต่ก็มีหลายเรื่องที่ สปสช.คัดค้าน และมีอีก 2 กองทุนเข้าร่วมเหมือนกัน ผมเข้าใจดีว่ามีเสียงคัดค้านการตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติเยอะ ผมเข้าใจ แต่ก็คงต้องผลักดันให้สภาฯ นี้ออกมาผ่านทางช่องทางปกติ ไม่ใช้ช่องทางพิเศษอะไร เพราะเห็นว่านี่เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว และยินดีที่จะต่อสู้อย่างเปิดเผย คนนั้นค้าน คนนี้ค้าน แต่ผมทำดีที่สุดแล้วให้มีเสียงของทุกฝ่าย” ศ.อัมมารกล่าว และว่า ส่วนตัวร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่มีชื่อเรียก เพราะยังไม่คลอดออกจากคณะกรรมการ.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2558 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง