ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขณะที่ “พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว” ยังคงรอลุ้นการบรรจุตำแหน่งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ในรอบที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2555 จำนวน 7,547 ตำแหน่ง หลังจากที่มีการเรียกร้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกําหนดเป้าหมายและนโยบายกําลังคนภาครัฐ (คปร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผลสำเร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติบรรจุข้าราชการ

จากการติดตามล่าสุด กลุ่มพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวได้โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊ค “เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข” โดยระบุถึงการประชุม ครม.วันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ที่ยังคงไม่มีวาระการพิจารณาในเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นวันซึ่งครบกำหนดตามสัญญาว่าจะมีการนำเรื่องนี้สู่การพิจารณา ซึ่งคงต้องรอดูในสัปดาห์ต่อไป

งานนี้ต้องบอกว่ากระทบทั้งขวัญและกำลังใจ เพราะต่างเชื่อมั่นว่าต้องผ่านฉลุยหลังจากที่มีการเรียกร้องหลายต่อหลายครั้งในการอนุมัติตำแหน่งรอบนี้ และมีแนวโน้มว่าเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวอาจจะมีการนัดรวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาลเร็วๆ นี้เพื่อแสดงพลังกันอีกครั้ง หากยังไม่มีการอนุมัติตำแหน่ง     

เป็นที่ยอมรับว่าวิชาชีพพยาบาลถือเป็นกระดูกสันหลังของระบบสุขภาพ โดยเป็นบุคลากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบ สถานพยาบาลทุกระดับต่างต้องการพยาบาล เพื่อทำให้งานทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลเดินหน้าได้ แต่ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการผลิตพยาบาลจำนวนมากจากวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ยังไม่เพียงพอกับจำนวนพยาบาลที่ไหลออกจากระบบ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลภาครัฐที่ต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกันหมด เพราะนอกจากการเกษียณตามอายุงานของพยาบาลแล้ว ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ไหลออกจากภาระงาน ค่าตอบแทนน้อย รวมไปถึงความมั่นคงและความก้าวหน้าในวิชาชีพที่เป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ขอเลือกทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือประกอบอาชีพอื่นแทน ส่งผลกระทบต่อการบริการในที่สุด

สถานการณ์พยาบาลขาดแคลนนี้ดูเหมือนจะวิกฤตหนัก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ซึ่งได้รับการยืนยันจากเหล่าบรรดาผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เพราะต่างต้องแก้ไขปัญหานี้เช่นเดียวกัน ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากแผนการเตรียมขยายบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากเข้าถึงการรักษา การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งนี้หากใช้วิธีการคำนวนด้วย “การวิเคราะห์อัตรากำลังภารกิจ” (Full Time Equivalent : FTE) จะพบว่า ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งต่างประสบปัญหาการขาดแคลนพยาบาลอยู่ในระดับที่น่ากังวลและส่งต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้นให้กับพยาบาลในระบบ

จากการเปิดเผยข้อมูลอัตรากำลังพยาบาลต่อภาระงานในโรงพยาบาล สป.สธ. ซึ่งรวมถึงพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว อาทิ รพ.ราชบุรี มีผู้ป่วยนอก 2,400 คนต่อวัน ดูแลผู้ป่วยใน 855 เตียง ควรมีพยาบาล 900 คน แต่ปัจจุบันมีเพียงแค่ 600 คนเท่านั้น, รพ.ชลบุรี มีผู้ป่วยนอกสูงถึง 3,000 คนต่อวัน ควรมีพยาบาล 1,200-1,400 คน แต่มีเพียงแค่ 700 คนเ ขณะที่ รพ.พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ควรมีพยาบาล 1,500 คน แต่มีเพียงแค่ 900 คน โดยเฉลี่ยต่างต้องการพยาบาลเพิ่มถึงร้อยละ 30-50

ทั้งนี้ด้าน รพ.สระบุรี แม้ว่าจะมีพยาบาลจำนวน 500 คน แต่ยังต้องการเพิ่มถึง 70 คน เพื่อดูแลผู้ป่วยนอก 3,000 คนต่อวัน และผู้ป่วยใน 780 เตียง ขณะที่ผลกระทบขาดแคลนพยาบาลนี้ ทำให้ รพ.ต้องปิดบริหารห้องผ่าตัด 1 ห้องจาก 12 ห้อง เนื่องจากไม่มีพยาบาลประจำห้องผ่าตัด โดยผู้บริหาร รพ.สระบุรี ได้แสดงความกังวล เนื่องจาก รพ.มีแผนที่จะเปิดอาคารผู้ป่วยใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า มีห้องผ่าตัดถึง 16 ห้อง หากสถานการณ์พยาบาลยังเป็นอย่างนี้คงต้องประสบปัญหา ซึ่งปีที่ผ่านมา รพ.สามารถจัดหาพยาบาลได้เพียง 10 คน ขณะที่จำนวนพยาบาลเกษียณและลาออกมีจำนวน 17 คน จำนวนพยาบาลใหม่เพื่อทดแทนจึงไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ที่เตรียมจะขยาย รพ.จาก 580 เตียง เป็น 800 เตียง ใน 5 ปี ซึ่งต้องการพยาบาลถึงจำนวน 600 คน เพื่อรองรับการบริการ แต่ปีที่ผ่านมา รพ.ต้องการพยาบาล 100 คน แต่จัดหาได้เพียงแค่ 35 คนเท่านั้น   

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการเร่งหาพยาบาลเพื่อทำงานใน รพ. ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นการเปิดรับสมัครพยาบาลเพื่อทำงานเช่นเดียวกับอาชีพอื่นโดยทั่วไป รพ.แต่ละแห่งมีการแข่งขันตั้งแต่การจองตัวนักเรียนพยาบาลโดยการให้ทุนเรียน อาทิ การให้ทุนปีละ 50,000 บาท แต่มีเงื่อนไขการใช้ทุน 2 ปี หรือที่เรียกว่าตกเขียว การวางแผนผลิตโดยทำข้อตกลงกับวิทยาลัยพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งนักเรียนผลิตและกลับมาทำงานยัง รพ. การจ้างพยาบาลที่เกษียณอายุแล้วเพื่อทำงานต่อ หรือแม้แต่การยืมตัวพยาบาลจากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ใกล้เคียง โดยผู้บริหาร รพ.หลายแห่งต่างระบุตรงกันว่า ปัญหาพยาบาลขาดแคลนขณะนี้ แม้ว่า รพ.จะมีเงินจ้างก็จัดหาเพิ่มไม่ได้ เพราะ รพ.แต่ละแห่งต่างต้องการพยาบาลเช่นกัน หรือแม้แต่การผลิตเพิ่มก็มีปัญหาอาจารย์พยาบาลที่มีจำนวนจำกัด

ขณะที่การคงพยาบาลให้อยู่ในระบบเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้บริหาร รพ.หลายแห่งต่างสะท้อนตรงกัน และยอมรับว่ามีพยาบาลจำนวนไม่น้อยหลังใช้ทุนแล้วเลือกที่จะเข้าทำงานใน รพ.เอกชน ซึ่งยังคงต้องการพยาบาลในจำนวนมากเช่นกัน เพราะมีการขยายเครือข่ายบริการไม่แพ้ รพ.ภาครัฐ ซึ่งไม่เพียงแต่เงินเดือนและค่าตอบแทนที่ดึงดูดเท่านั้น แต่ด้วยภาระงานที่น้อยและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกว่า ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้พยาบาลเหล่านี้คงอยู่ในระบบได้คือความมั่นคงในชีวิตและความก้าวหน้าทางวิชาชีพ โดยเฉพาะการบรรจุเป็นข้าราชการ แต่สองปัจจัยนี้เกินกว่าที่ผู้บริหารระดับ รพ.จะดำเนินการได้ รวมถึงการปรับค่าตอบแทนที่ต้องเหมาะสมกับภาระงาน

จากปัญหาวิกฤตพยาบาลที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาต้องทำในภาพรวม เนื่องจาก รพ.แต่ละแห่งต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกันหมด ทางออกของปัญหาวันนี้จึงต้องทำร่วมกันและรัฐบาลต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะการสนับสนุนมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา เพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาวิกฤตพยาบาลเท่านั้น แต่นั่นหมายถึงการดูแลคุณภาพการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และเป็นที่พึ่งยามเจ็บป่วยให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง